หลังจากที่กสทช. ได้ประกาศให้ผู้ให้บริการที่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เข้ามารับซองเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จนท้ายที่สุด ทั้งสามค่ายต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทำให้การประมูลที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม เป็นอันยกเลิกไป ทำให้ทางบอร์ดบริหารของกสทช. ต้องประชุม และกำหนดแผนการประมูลใหม่อีกครั้ง
ล่าสุด เลขาธิการกสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้เปิดโต๊ะแถลงถึงหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ครั้งใหม่ โดยมีการกำหนดวัน และจำนวนคลื่นในแต่ละใบอนุญาต รวมไปถึงมีการประกาศนำคลื่นความถี่ 900MHz มาประมูลด้วย
ประมูล 1800 MHz จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็นใบอนุญาต 9 ใบ ใบละ 5 MHz
โดยในรายละเอียดที่มีการแถลง ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ 1800MHz ที่มีจำนวน 45MHz (จากดีแทค 25MHz และจากแคท 20MHz) ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 มาประมูล แบ่งออกเป็นใบอนุญาตทั้งสิ้น 9 ใบ ใบละ 5MHz จากเดิมในครั้งที่แล้วที่กำหนดไว้ 3 ใบอนุญาต ใบละ 15MHz ใบอนุญาตแต่ละใบ มีอายุสัญญา 15 ปี ครั้งนี้ ราคาเริ่มต้นประมูลจะเริ่มต้นที่ 12,486 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 25 ล้านบาท ต่างจากครั้งที่แล้วที่เริ่มต้นประมูลที่ราคา 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก จนทั้งสามค่ายต่างตัดสินในที่ไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งก่อนหน้า
ประมูลคลื่น 900 MHz แค่ 5 MHz
ในขณะที่คลื่นความถี่ 900MHz ที่นำมาประมูลด้วยนั้น ทางกสทช. นำมาประมูลแค่เพียง 5MHz เริ่มต้นประมูลที่ราคา 35,988 ล้านบาท (ลดลงจากครั้งก่อน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าว ลงทุนติดตั้งระบบกันคลื่นรบกวน) เคาะเพิ่มครั้งละ 72 ล้านบาท อายุสัญญา 15 ปี โดยการประมูลในคลื่นความถี่ 900MHz จะมีข้อกำหนดพิเศษตรงที่ว่า ถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ก็จะเคาะประมูลเพียงครั้งเดียว เพื่อยอมรับราคาประมูลตั้งต้น แบบเดียวกับการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ครั้งก่อนหน้านี้ ที่เอไอเอสเข้าร่วมเพียงรายเดียว และเป็นการจัดการประมูลอีกครั้ง หลังจากที่ทางแจสโมบายล์ไม่ได้เข้ามาชำระค่าใบอนุญาตรอบแรก
การประมูลทั้งสองครั้งนี้ จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2561 โดยจะประมูลใบอนุญาตคลื่น 900MHz ก่อน ในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 และจะเริ่มประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800MHz วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2561
ในส่วนของการวางเงินประมูลและการชำระนั้น ในการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz จะต้องวางเงินประกัน 2,500 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz วางเงินประกันไว้ที่ 1,800 ล้านบาท ส่วนการชำระค่าใบอนุญาตจะต่างกันตรงที่ การชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800MHz ในงวดแรก จะต้องชำระครึ่งหนึ่งของราคาประมูลที่ชนะ และในงวดที่ 2 และ 3 จะต้องชำระในส่วนที่เหลือ งวดละ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz นั้น แบ่งออกเป็น 4 งวดด้วยกัน โดยในงวดแรก ชำระ 4,020 ล้านบาท, งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท และงวดสุดท้าย ชำระในส่วนที่เหลือทั้งหมด
ทั้งหมดนี้ จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 5 กรกฎาคม และจะเริ่มเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลในคลื่นความถี่ดังกล่าว เข้ามารับคำขอประมูลได้ที่สำนักงานกสทช. ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม และยื่นคำขอในวันที่ 8 กรกฎาคม
ทั้งนี้ ต้องจับตากันอีกต่อไปว่า เมื่อ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ออกมาแล้ว ทั้งสามค่ายจะตอบรับกับการประมูลครั้งใหม่นี้หรือไม่ หรือจะมีหน้าใหม่หน้าไหนบ้างที่กล้าเข้ามาร่วมประมูล และการประมูลที่จะเกิดขึ้นนี้ จะ “เลือดสาด” และลากยาวแบบหามรุ่งหามค่ำ เหมือนครั้งประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz และ 900MHz เมื่อปี 2558 หรือไม่นั้น ต้องติดตาม แต่งานนี้ แจสโมบายล์ ไม่ได้เข้าร่วมนะจ๊ะ…
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ