จากเหตุการณ์ ทีมหมูป่า รวม 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน ที่เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาเยาวชนทั้ง 12 และอีก 1 โค้ช ของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย กันอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายต่างทุ่มแรงกายแรงใจค้นหาทั้ง 13 ชีวิตอย่างสุดกำลังความสามารถเลยจริงๆ

ไม่เว้นแม้แต่ นายณัชธกฤษณ์ สาระไชย หรือน้องไบรท์ อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดีกรีแชมป์บินโดรนระดับประเทศ ที่อาสาเข้าร่วมภารกิจค้นหา 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยใช้โดรนเข้าช่วยทำการค้นหาในครั้งนี้

ทีมงานแบไต๋ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายณัชธกฤษณ์ สาระไชย หรือ น้องไบรท์ ว่า

  • ประสิทธิภาพของโดรนที่ใช้คือรุ่นไหน // เหมาะสมกับพื้นที่ หรือมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง??
  • และส่วนตัวคาดมาก่อนไหมว่า…จะได้นำความสามารถของตัวเองมาใช้ในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้

น้องไบรท์ก็บอกเล่ากับทางทีมงานแบไต๋ว่า 

  • โดรนที่ใช้หลัก ๆ มี 2 ลำครับ 1.dji mavic pro ลำนี้จะเป็นโดรนขนาดเล็กพกพาสะดวก ใช้ในเวลาเผื่อเจอช่องหรืออะไรที่แคบ ๆ ก็จะใช้ลำนี้ในการบิน จะได้สะดวกในการบังคับผ่านสิ่งกีดขวางเผื่อต้องบินลงไปในพื้นที่แคบหรือพื้นที่มีขนาดเล็กครับ

  • ส่วนลำที่ 2 คือ dji phantom 4 pro v.2 ลำใหม่ล่าสุดในตอนนี้เลยครับ เป็นลำหลักที่นำขึ้นบิน โดยโดรนลำนี้ได้รับการสนับสนุนจาก วช.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อมอบให้กับกรมอุทยานโดยเฉพาะเลยครับ ก็คือโดรนลำนี้มอบให้อุทยานไว้ปฏิบัติภารกิจเลย ส่วนข้อดีของโดรนลำนี้ก็จะมีลำขนาดกลางจะสู้ลมได้ดีกว่าตัว mavic pro และระบบซอฟต์แวร์ของตัวเครื่องกับกล้องที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด มีความคมชัดที่สุด เราจึงนำลำนี้มาถ่ายทำแผนที่ให้กรมอุทยานครับ เพราะอุทยานใช้แผนที่จาก google map มันเป็นแบบเก่าเราจึงสร้างแบบ real time ขึ้นมาให้ใหม่เลย บวกกับความคมชัดของภาพจากโดรนรุ่นใหม่ตัวนี้ และยังสามารถนำมาทำเป็นแผนที่สามมิติเพื่อที่จะได้รู้ความชัน ความลึกของภูเขา เพื่อที่จะสามารถทำให้กรมอุทยานทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วยครับ

คลิปด้านล่าง เป็นคลิปตัวอย่างแผนที่สามมิติ สามารถกดดูมุมภาพ หรือความชัน ความลึกของภูเขาได้

น้องไบรท์ เล่าถึงหน้าที่หลัก ๆ ของตนเองว่า “ในภารกิจนี้ ผมขึ้นตรงกับกรมอุทยานครับ ทำหน้าที่ 1.บินสำรวจ 2.ทำแผนที่ 3.ส่งข้อมูลภาพทางอากาศแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญเลยคือ…เราสอนจนเจ้าหน้าที่กรมอุทยานสามารถบินโดรนเองได้แล้วครับ (ยิ้ม)

“แต่ข้อจำกัดคือ โดรนทุกลำถูกล็อคความสูงไว้ที่ 500 เมตร หมดทุกลำครับ เป็นไปตามกฎการบิน และสถานที่ที่เราบินเป็นภูเขาสูง 1100-1300 เมตร เราจึงต้องขึ้นไปบนดอยอีกลูก(ดอยผาหมี)ที่สูงกว่าหรือเท่ากันเพื่อบินข้ามมาปฏิบัติภารกิจครับ”

“ส่วนเรื่องที่มาของแชมป์บินโดรนระดับประเทศนั้น น้องไบรท์ เผยว่า “ตัวผมก็แข่งขันในรายการหนูน้อยจ้าวเวหาของทาง ThaiPBS ครับ ซึ่งจะมีการแข่งขันโดรน โดยจะเน้นให้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ และพอมาเกิดเหตุการณ์จริงแบบนี้ ทำให้รู้เลยครับว่าการแข่งขันที่ผมผ่านประสบการณ์มามันได้เอามาใช้ในการบินครั้งนี้หมดเลย มันทำให้เรามีทักษะการบินที่ง่ายขึ้น ปฏิบัติภารกิจการช่วยเหลือได้เร็วขึ้น และก็ภาคภูมิใจครับว่าสิ่งที่เราเล่นสิ่งที่เราชอบมันสามารถนำมาช่วยเหลือผู้อื่นได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมครับ