เศรษฐกิจฐานราก คือ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่เน้นพึ่งตนเองเป็นหลัก มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีคุณธรรมและเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในพื้นทีชุมชนของตนเอง ทั้งผู้คน สังคมในชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืน
เลยทำให้เกิดเป็นนโยบายของภาครัฐบาลที่ต้องการมุ่งเน้นไปในทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและการค้าระหว่างประเทศ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยวิสัยทัศน์ของการดึง “Big Data” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทุกระดับให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า “เราเริ่มตั้งแต่การสร้างกำลังการซื้อให้กับประชาชนในระดับฐานราก พร้อมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วทุกพื้นที่ มุ่งเน้นให้ประชาชนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการฝึกอบรมที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของประชาชนผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจเพื่อให้รองรับเศรษฐกิจ 4.0 รวมไปถึงการยกระดับธุรกิจสู่การค้าระหว่างประเทศ “Big Data” ยังเข้ามาช่วยในเรื่องของการยกระดับการทำงานของกระทรวง ผ่านการเช่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อผลักดันการค้าของไทย สร้างรายได้จากการส่งออกให้บรรลุเป้าหมาย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากการดึงเอา “Big Data” เข้ามาพัฒนาในทุกภาคส่วน
กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลในด้านเศรษฐกิจ มุ่งหวังให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในยุคดิจิทัลให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากการใช้งาน “Big Data”เพื่อนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการนำข้อมูล “Big Data” มาประมวณผลเพื่อ “สร้าง” อาชีพ และ “สนับสนุน” ให้เกิดองค์ความรู้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs โดยจัดให้มีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศตามศักยภาพของรายบุคคล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้บูรณาการข้อมูลและหลักสูตรการฝึกอบรมของทุกหน่วยงานในกระทรวงให้เข้าใจง่ายสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านขั้นตอนการบูรณาการข้อมูลทั้งจากภายในกระทรวงฯ และภายนอก เพื่อการใช้ “Big Data” ในการตอบโจทย์การกำหนดมาตรการผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม เกิดผลกับประชาชนในทุกระดับ โดยการขับเคลื่อนในแนวทาง 3 มิติ ที่เชื่อมโยงกัน
“Big Data” ยังถูกนำเข้ามาใช้งานในกระทรวงฯ ในด้านการ “ส่งเสริม” การค้าระหว่างประเทศ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานด้านต่างประเทศของกระทรวง มาประมวลผลแบบ Real-time เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศ พร้อมใช้ผลักดันและขยายโอกาสการค้าระหว่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายอีกด้วย