ETDA ประกาศผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เผย Gen Y ครองแชมป์ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยเฉพาะการใช้Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ห่วงความปลอดภัยการใช้งานอินเทอร์เน็ต หลังพบผู้ใช้ไม่ยอมเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อออนไลน์ เตรียมจัดตั้ง Digital Asia Hub Thailand หวังสร้างความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาคและระดับโลก

คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 ในงานETDA สู่ปีที่ 8 “Future Economy and Internet Governance: Big Change to Big Chance” พบว่าพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน โดย Gen Y เป็นแชมป์การใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดติดกันเป็นปีที่ 4  เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้คนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip       สูงมากถึง 3 ชม. 30 นาทีต่อวัน ขณะที่การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม.​ 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51  นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม.​ 31 นาทีต่อวัน

เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตดิจิทัล จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่าแบบดั้งเดิม ได้แก่ การส่งข้อความ 94.5% การจองโรงแรม 89.2% การจอง/ซื้อตั๋วโดยสาร 87.0% การชำระค่าสินค้าและบริการ 82.8% และการดูหนัง/ฟังเพลง 78.5% ตามลำดับ

คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่ามีหลากหลายกิจกรรมที่คนไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูล      ส่วนบุคคลจากพฤติกรรมดังนี้  1. ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุก ๆ 3 เดือน 45.34%  2. การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่าน  สื่อสังคมออนไลน์ 45.04% 3.เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็ละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 44.48%  4.เปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 43.36% และ5.อัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันทีหลังถ่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 35.70%

สำหรับกลุ่ม Baby Boomer  เป็นกลุ่มที่น่ากังวลมากที่สุด เช่น เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคารก็จะละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ 55.94% และเมื่อสิ้นสุดการใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นก็ไม่ลบประวัติการใช้งาน 46.96%  หรือไม่ลงชื่อออกจากการใช้งานจากเครื่องดังกล่าว 26.14% รวมถึงการที่ไม่ได้ล็อกหน้าจออัตโนมัติ  29.71%

ขณะที่ Gen Z  จะมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์55.97% การไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุกๆ 3 เดือน 53.73% หรือเปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก 51.49% รวมทั้งเมื่อใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้อื่นมักตั้งค่าให้อุปกรณ์ดังกล่าวจดจำรหัสผ่าน เพื่อจะได้ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง 28.36%  และคลิกลิงก์ของธนาคารที่ได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของธนาคารโดยตรง 16.42%

ส่วน Gen Y มักจะชอบทำกิจกรรมเสี่ยงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ               เช่น การอัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันทีหลังถ่าย  37.90% รวมทั้งการอัพโหลดภาพตั๋วเครื่องบิน/Boarding passก่อนการเดินทาง 33.77% และการแชร์ตำแหน่ง (Location) แบบ Real time 13.57% ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับเจ้าของข้อมูล ดังนั้นจึงควรตั้งค่าดังกล่าวเป็นส่วนตัว เปิดให้เฉพาะเพื่อน หรือญาติพี่น้อง หรือคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น

ภายหลังการแถลงผลสำรวจ ETDA ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง ETDA กับ Digital Asia Hub Hong Kong ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยศูนย์เบิร์กแมนไคลน์เพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมแห่งโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด (The Berkman Klein Center for Internet & Society, Harvard Law of School) เพื่อร่วมกันจัดตั้ง The Digital Asia Hub Thailand หรือDAH.th เพื่อสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกันในประเด็นทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยร่วมกันพัฒนาศักยภาพ เผยแพร่ความรู้  และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสตราจารย์ ดร. อูร์ส แกสเซอร์ (Prof. Dr. Urs Gasser) ผู้อำนวยการศูนย์เบิร์กแมนไคลน์ฯ

 ศาสตราจารย์ ดร. อูร์ส แกสเซอร์ (Prof. Dr. Urs Gasser) ผู้อำนวยการศูนย์เบิร์กแมนไคลน์ฯ กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดตั้ง Digital Asia Hub Thailand ว่าเป็นความร่วมมือเพื่อเดินหน้าสู่ Digital Transformation ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะใช้เป็นเวทีสำหรับการสร้างความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันในมิติต่าง ๆ รวมทั้งเปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในเชิง Digital Technology เศรษฐกิจและสังคม เพื่อแบ่งปันความรู้และการศึกษาวิจัย รวมถึงการแปลงผลการศึกษาวิจัยไปสู่ทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสนับสนุน การทำงานในระดับผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มประชาสังคม

Digital Asia Hub Thailand จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงทางด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึง Digital Asia Hub ในฮ่องกง และ Berkman KleinCentre ที่ Harvard Law School ในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในด้านของผู้เชี่ยวชาญ การวิจัย และการอบรมบุคลากร

สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ Digital Asia Hub Thailand ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่       1.การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ (Multi-Stakeholder Collaboration) ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งมีทั้งภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเด็นด้าน Digital Transformation 2. หลักสูตรการศึกษาโดยจัดกิจกรรมการศึกษาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่มุ่งให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคเอกชนและภาครัฐเกี่ยวกับประเด็น Digital Transformation กฎหมายและทางสังคม รวมถึงการจัดโครงการฝึกงานหรือโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นในกลุ่มความร่วมมือ 3.การสนับสนุนด้านการวิจัยซึ่ง Digital Asia Hub Thailand จะมีส่วนร่วมในการวิจัยที่มุ่งเน้นประเด็นการปรับใช้หลักการของ GDPR, Cybersecurity Analytic กับการพัฒนาขีดความสามารถ และประเด็นเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือสู่ความพร้อมของธุรกิจไทยในเรื่อง GDPR ของ  13  สมาคม  ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สมาคมธนาคารไทย,สมาคมการค้าดิจิทัลไทย,สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย),สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,สมาคมไทยบล็อกเชน,สมาคมประกันชีวิตไทย,สมาคมประกันวินาศภัยไทย,สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย,สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย,สมาคมฟินเทคประเทศไทย และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ