เพราะการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และการท่องเที่ยวช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากกว่าภาคการผลิตและบริการอื่น ๆ
อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)) เปิดเวทีระดมสมอง “DASTA Forum 2018” วัตถุประสงค์ของงานนี้คือ : เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมองต่าง ๆ ตลอดจนข้อเสนอแนะในการพัฒนาการท่องเที่ยว และเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานการพัฒนาการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของอพท.
การท่องเที่ยว ถือเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคมพร้อมชี้แนวทางขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยยุค 4.0 อพท. เผยว่า ใน 15 ปีของการทำงานโดยใช้เครื่องมือ การจัดการการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนตามเกณฑ์ GSTC และใช้ “ใจ” ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยกลุ่มชุมชน และมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวโตถึง 38.5% นั่นทำให้การอยู่ดีมีสุขของกลุ่มชุมชนพุ่งสูงถึง 86.36% ในขณะที่นักท่องเที่ยวมีความสุขจากการได้มาสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนมากถึง 79.17% รวมเป็นมูลค่าเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากรการท่องเที่ยวพัฒนาไปสูงถึง 4.4939 ล้านล้านบาท ช่วยการันตีว่าการท่องเที่ยวนั้นถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความสุข ความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม
อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)) มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนในภาคของการท่องเที่ยว ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาในรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการทำงานที่มีส่วนร่วมแบบ Co-Creation (ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์)
ทางด้านคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กล่าวในหัวข้อ “ท่องเที่ยวอย่างไรให้อินเทรนด์” ว่า “การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม อย่างเช่น Facebook อาจจะไม่ใช่สื่อที่ดีที่สุดแต่ก็จำเป็นต้องทำความรู้จักไว้ สื่อโซเชียลมีเดียชนิดต่าง ๆ ได้แก่ Facebook คือสื่อที่ครบรส มีทั้งตัวอักษร , รูปภาพ , วิดีโอ , Live หรือการเผยแพร่ภาพสด และปัจจุบันมีผู้คนที่ทำการLive ผ่าน Facebook เป็นจำนวนมาก นั่นทำให้การแข็งขันในการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์อย่าง Facebook เพิ่มมากขึ้น และผู้คนมักสนใจเรื่องที่เป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าเรื่องที่จริงจัง ส่วน IG หรือ อินสตาแกรม (Instagram) เป็นสื่อโซเชียลที่เน้นภาพสวย”
“เปรียบเทียบสื่อ Facebook เป็นไม้บรรทัดโลก เน้นไปที่ความชอบธรรม และผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองนั้นเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาล หมายถึงว่าตัวเราเองนั้นถูกที่สุด และเปรียบสื่ออย่าง IG หรือ อินสตาแกรม (Instagram) เป็นสื่อที่เน้นแข่งขันกันด้วยภาพ ภาพที่สวยจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นและไม่เน้นเนื้อหา คือต่อให้เขียนข้อความยาวขนาดไหนใน IG หรือ อินสตาแกรม (Instagram) ก็ไม่มีผล ต่างจากใน Facebook ที่เนื้อหายิ่งยาวผู้คนยิ่งให้ความสนใจ นั่นหมายความว่าเราต้องหาคาแรคเตอร์ของตัวเองเพื่อแสดงจุดยืนให้ชัดเจนในโลกของออนไลน์ เพื่อเจาะให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา และการเล่นตามกระแสสังคมให้ทัน ผู้ประกอบการควรเลือกใช้สื่อให้ถูกและตรงกับภาพลักษณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนได้ต่อไป”
การท่องเที่ยวในยุค 4.0 จะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานการท่องเที่ยวภายใต้แนวทาง “รวมร่าง รวมเรื่อง และรวมพลัง” คือการต้องรวมหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่หนุนเสริมกันไว้ด้วยกัน และรวมเรื่องกฏหมายต่าง ๆ ใน 3 กลุ่มภารกิจหลักของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรวมพลังบุคลากรด้านการท่องเที่ยวตามสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถแลกเปลี่ยนการทำงาน , เรียนรู้ และพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยไปด้วยกัน