ดีแทค นำโดยคุณ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค คนใหม่ กล่าวถึงการให้ความสำคัญลูกค้าดีแทคที่ยังใช้บริการคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz กว่า 400,000 ราย พร้อมดูแลรับผิดชอบในช่วงสิ้นสุดสัมปทานไม่ให้ซิมดับ ใช้งานได้ต่อเนื่อง ย้ำการดูแลผู้ใช้งานคือความรับผิดชอบร่วมกันทั้ง กสทช และผู้ให้บริการ
โดยคุณอเล็กซานดราก็ได้มองเห็นถึงสิ่งสำคัญที่ทาง dtac มีอยู่ 3 สิ่งคือ
- แบรนด์ dtac
- ลูกค้าของ dtac กว่า 21 ล้านราย
- พนักงานของ dtac
ซึ่งทั้ง 3 นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ดีแทคสามารถก้าวไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างมั่นคง
ประเด็นสองคือลูกค้าเราอาจได้รับผลกระทบบ้างช่วงเปลี่ยนผ่าน เราพยายามทำให้ดีที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญเราจะตรงไปตรงมากับลูกค้าให้มากที่สุด ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ท้าทายแต่ก็เป็นช่วงที่จะมองไปสู่การปรับเปลี่ยนองค์กรที่มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ดีแทคจะขยายโครงข่ายการบริการทั้งคลื่น 2100 MHz และบริการบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอที เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
คุณ อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า “เราให้ความสำคัญกับลูกค้าต้องมาก่อน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานเราจึงตั้งใจดูแลลูกค้าเราให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำ เราต้องได้รับอนุมัติแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจาก กสทช. เพื่อลูกค้าดีแทคได้ใช้คลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ซึ่งเป็นช่วงคลื่นเดิมของดีแทคที่หมดสัมปทานและไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน โดยลูกค้าดีแทคควรได้สิทธิ์ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ตามที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้รับการคุ้มครองตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน”
ในช่วงนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ ซึ่งทาง dtac ก็ได้มีแผนการที่วางไว้ในช่วงเวลานี้ 3 ประการหลัก ๆ ด้วยกันคือ
- ขอรับการคุ้มครองระหว่างการเยี่ยวยาในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน
- ต้องทำตัวตรงไปตรงมา และพยายามแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าให้ได้มากที่สุด
- เป็นโอกาสที่ดีที่จะปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางให้กับลูกค้าได้ดีที่สุด
คุณ อเล็กซานดรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานนั้นยังเป็นการทำรายได้ให้กับรัฐ ตามข้อกำหนดจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวได้ อีกทั้งตามประกาศ กสทช ยังกำหนดให้รายได้ระหว่างการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองจะต้องเป็นของรัฐ ผู้ให้บริการเป็นเพียงผู้รับรายได้แทนรัฐเท่านั้น เมื่อได้รับรายได้มาผู้ให้บริการทำได้เพียงหักต้นทุนค่าใช้จ่าย และนำส่วนที่เหลือส่งเข้ารัฐเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป จึงจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ในช่วงดูแลลูกค้า”
ประวัติคุณอเล็กซานดรา ไรซ์
ทางคุณอเล็กซานดรา ไรซ์ เป็นคนชาวออสเตรีย โดยเริ่มก้าวสู่ธุรกิจสตาร์ทอัปมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ และได้เริ่มผันตัวเข้ามาทำงานในด้านโทรคมนาคม เริ่มต้นจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และค่อย ๆ พัฒนาความสามารถจนล่าสุดก้าวสู่ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาแทนคุณลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่งที่ได้ลาออกไป
ช่วงตอบคำถาม
Priority แรกสุดในช่วง 3 เดือนแรกจะทำอะไรบ้าง
อย่างแรกคือต้องเรียนรู้ dtac ทั้งด้านพนักงานและลูกค้า โดยเน้นไปในด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการโยกย้ายสัมปทานคลื่นความถี่ ซึ่งทางฝั่ง dtac ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้มีการติดต่อสื่อสารไปยัง กสทช. แล้วตามเวลาที่กำหนด
แผนฉุกเฉินมีอะไรบ้าง?
ยังเชื่อว่าทาง กสทช. จะช่วยเหลือและคุ้มครองลูกค้า dtac ให้ ซึ่งปัจจุบันมี 400,000 ผู้ใช้งานที่ dtac จะต้องโอนย้ายผู้ใช้งานออกมาจากคลื่นความถี่ 850 MHz โดยการเยียวยาจะต้องได้รับการเยียวยาจนกว่าผู้ใช้งานจะหมด หรือจนกว่าจะโอนย้ายเสร็จสิ้น และมีการประกาศแคมเปญและยิง Message ไปยังผู้ใช้บริการคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่อง ให้ทำการย้ายมาอยู่ใน Dtac Tri-net จนกว่าจะโยกย้ายเสร็จสิ้น
นโยบาย 5G ของ dtac เป็นอย่างไรบ้าง?
Dtac ได้มีแผนสำหรับทาง 5G ในอนาคต เชื่อว่า 5G จะสามารถนำพาดีแทคไปสู่อนาคตได้อย่างแน่นอน โดยความต้องการของ 5G นั้นคือจะต้องมีคลื่นความถี่ทั้งต่ำและสูง ซึ่งในประเทศไทยมีข้อดีคือ มีผู้ให้บริการไม่มาก ซึ่งทำให้โอกาสในการทำ 5G มีมากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยดีแทคต้องใช้เวลาซักช่วงหนึ่งหลังการเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น ซึ่งตั้งใจจะทำในด้านการให้บริการที่ดีกว่าเดิม และมีแผนการระยะยาวสำหรับบริการ 5G อย่างแน่นอน