ซิสโก้ เผยผลการศึกษา โดยบริษัทวิจัยที่เป็นบุคคลที่สาม ซึ่งได้ทำการสัมภาษณ์ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไอที 1,325 คนในบริษัทต่าง ๆ ในประเทศดังนี้
- ออสเตรเลีย
- จีน
- อินโดนีเซีย
- อินเดีย
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- มาเลเซีย
- ฟิลิปปินส์
- สิงคโปร์
- ไทย และ
- เวียดนาม
ระบุว่า “บริษัทในอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มีความมั่นใจสูงสุดเกี่ยวกับความพร้อมด้านดิจิทัลเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
รายงานผลการศึกษามีชื่อว่า Ready, Steady, Unsure – A Technology Perspective into Asia-Pacific’s Readiness for Digital Transformation (มุมมองด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับความพร้อมของเอเชียแปซิฟิกสำหรับการปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล) ชี้ให้เห็นว่า บริษัทส่วนใหญ่ใน 6 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในอาเซียนมั่นใจว่า กลยุทธ์การปรับปรุงธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
- มีความเหมาะสมในการรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ (94%)
- บริษัทมีความพร้อมเพียงพอในการปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (93%) และ
- บริษัทในอาเซียนมีความมั่นใจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (84%)
ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ในอาเซียนมีความพร้อมในการเร่งกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ระดับความเชื่อมั่นก็แตกต่างหลากหลายกันไปสำหรับแต่ละบริษัท ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า 19% ของผู้บริหารฝ่ายไอทีในองค์กรขนาดใหญ่ (ที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 คน) ไม่คิดว่าองค์กรของตนมีความพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เปรียบเทียบกับ 7%ในบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งนี้เพราะบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าและเพิ่งเปิดดำเนินงานมาไม่นาน ไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับระบบรุ่นเก่าที่ล้าสมัยและฐานผู้ใช้จำนวนมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ดีกว่าในการพัฒนาระบบไอทีอย่างรวดเร็ว
“การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในโลกดิจิทัล โดยในปัจจุบัน 95%ของงานด้านไอทียังคงบริหารจัดการโดยคน (manual) ส่งผลให้ฝ่ายไอทีประสบปัญหายุ่งยาก และต้องใช้เวลานานในการก้าวให้ทันกับความต้องการของธุรกิจและจำนวนผู้ใช้และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ซิสโก้กำลังให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทต่าง ๆ ในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในส่วนของเครือข่าย ระบบคลาวด์ภายในองค์กรและคลาวด์สาธารณะ และกรอบโครงสร้างไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยไม่เพียงแค่การอัพเกรดระบบเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการ ใช้งาน และปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพและง่ายดายมากขึ้น และบริษัทเหล่านี้ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนการโฟกัสจากการจัดการด้านไอทีไปสู่การสร้างมูลค่า นวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ”
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าความมั่นใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการสร้างอนาคตทางด้านดิจิทัลของธุรกิจจะอยู่ในระดับที่สูง แต่อัตราการปรับใช้เทคโนโลยียังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในภูมิภาคนี้ กล่าวคือ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามในอาเซียน
- มีเพียง 60% เท่านั้นที่เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์
- 59% สำหรับโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
- 55% สำหรับเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและระบบวิเคราะห์ข้อมูล และ
- 48% สำหรับระบบงานอัตโนมัติ
แม้กระทั่งในส่วนของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปรากฏว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (47%) ยอมรับว่าองค์กรของตนใช้แนวทางป้องกันเชิงรับ และติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยและทำการอัพเกรดระบบเฉพาะหลังจากที่เกิดปัญหาการละเมิดระบบรักษาความปลอดภัยแล้วเท่านั้น
ผู้บริหารฝ่ายไอทีชี้ว่า อัตราการปรับใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจาก
- ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (47%)
- การขาดแคลนบุคลากร (43%) และ
- โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ไม่เหมาะสม (42%)
แม้ว่าผู้บริหารฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ (92%) ในอาเซียนระบุว่าบริษัทของตนได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ทันสมัย ทั้งในส่วนของเครือข่าย ดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน 3 ปีที่ผ่านมา แต่เกือบครึ่งหนึ่ง (46%) ยอมรับว่าบริษัทได้ละเลยเรื่องนวัตกรรมและบริการหลังการขาย เพื่อแลกกับราคาโดยรวมที่ถูกลง อย่างไรก็ดี การตัดสินใจโดยพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นหลักส่งผลให้ผู้บริหารฝ่ายไอทีกว่าหนึ่งในสาม (37%) ไม่กล้าตัดสินใจและไม่มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่องค์กรมีอยู่จะสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้