อย่างที่ทราบกันดีว่าการอ่านหนังสือ เป็นการเปิดกว้างให้เราสามารถรับความรู้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลตาดีปกติเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนตาบอดด้วย

ในปัจจุบัน ถ้าคนตาบอดต้องการจะอ่านหนังสือ สิ่งที่สามารถทำได้คือ อาศัยอาสาสมัครอ่านหนังสือให้ฟัง หรือฟังเสียงในรูปแบบ Voice-over สำหรับสมาร์ทโฟน หรือฟังในรูปแบบไฟล์เสียงจากเครื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนตาบอดจดจำรายละเอียดทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาได้ยาก จึงทำให้เกิดอักษรเบรลล์สำหรับให้ผู้ที่ตาบอดได้อ่านหนังสือ แต่การได้มาซึ่งอักษรเบรลล์ก็มีความยุ่งยาก ต้องใช้เครื่องมือที่มีต้นทุนสูงในการผลิตหนังสือมากกว่าหนังสือปกติของคนตาดีหลายเท่า  ส่วนเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ (Braille Displays) ที่มีขนาดเพียงพอต่อการอ่านข้อความได้ทั้งประโยค ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการเขียนบทความหรือโปรแกรมสำหรับอักษรเบรลล์ ก็มีราคาถึงหลักแสนบาท และหนังสืออักษรเบรลล์และ Braille Display ก็มีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถพกพาได้สะดวก ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายอย่างในการเข้าถึงข้อมูลด้วยตัวเอง ทำให้คนตาบอดที่มีโอกาสประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะในการอ่านซึ่งมักมีรายได้สูง มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรสายตาปกติ เราจึงมักเห็นคนตาบอดส่วนใหญ่ยึดอาชีพขายล็อตเตอรี่ ร้องเพลง คอลเซ็นเตอร์ หรือนวด ซึ่งขาดความหลากหลายในการใช้ศักยภาพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง

ภาพ 3D rendering ลักษณะการอ่านหนังสือ

ทางทีม ReadRing เล็งเห็นในจุดนี้ จึงได้พัฒนาเครื่องมือนี้เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่คนตาบอดได้มีโอกาสรับความรู้จากการอ่านได้มากขึ้น ในราคาและฟังก์ชั่นที่เทียบเท่าสมาร์ทโฟน ทั้งยังสามารถอ่านตัวหนังสืออักษรเบรลล์ได้เต็มประโยคเหมือนเครื่องแสดงผลเบรลล์ (Braille Displays) ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ทุกที่ด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นอุปกรณ์เครื่องแรกของโลกที่ผู้ใช้สามารถอ่านหนังสือปกติของคนตาดีและสัมผัสอักษรเบรลล์ได้ทันที โดยมีต้นแบบทดสอบจริงโดยคนตาบอดแล้ว การเข้าถึงข้อมูลคือกุญแจสำคัญสู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและการใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอิสระที่มนุษย์โลกพึงมี

 

ภาพตัวอย่างการสวมใส่ต้นแบบ Mockup

ภาพต้นแบบ Working Prototype ที่ใช้ทดสอบจริงกับคนตาบอด

เครื่องอ่าน ReadRing มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Deep Tech ที่ตัว Hardware และ Software ใช้ AI ด้าน Computer Vision ร่วมกับอัลกอริทึมและกลไกแสดงผลเบรลล์ที่ออกแบบผสานกัน มีหน่วยแสดงผลเบรลล์ (Ring) เพียงสวมที่ปลายนิ้วของผู้อ่านในการอ่านข้อความอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับการอ่านแบบ Voice-over ในสมาร์ทโฟน โดยผู้ใช้จะเลื่อนนิ้วไปบนพื้นผิวเรียบอะไรก็ได้ให้ล้อหมุนและคลำอ่านจุดเบรลล์ที่ยกขึ้นมาภายในวงล้อ ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านอักษรเบรลล์บนกระดาษอย่างต่อเนื่อง และในการอ่านหนังสือปกติที่มีโปรแกรมรักษาทิศทางการเคลื่อนนิ้วอ่านหน้งสือให้ตรงตามแนวบรรทัด (แนวทางคล้ายกับ Lane Keeping Assist ในรถรุ่นใหม่) เพื่อให้กล้องใต้นิ้วจับข้อความได้ต่อเนื่องอย่างถูกต้อง และให้ผู้อ่านรู้ตำแหน่งคร่าว ๆ ของข้อความในหน้ากระดาษ การพิมพ์ข้อความก็ใช้ปุ่มกดบนเครื่อง เชื่อมต่อกับคีย์บอร์ดไร้สาย หรือสั่งพิมพ์ด้วยเสียงเช่นเดียวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน

Play video

วิดีโอการทดสอบการอ่านด้วยต้นแบบ ReadRing

ทีมงาน ReadRing ประกอบไปด้วยทีมงานที่รู้จักกันมานาน และมีทักษะหลากหลายแต่มีภาระใจร่วมกันในพันธกิจเพื่อคนตาบอด

  • คุณทรงปกรณ์ ภูหนองโอง – วิศวกรไฟฟ้า นักประดิษฐ์ และอาสาสมัครในโรงเรียนสอนคนตาบอด ผู้พัฒนาแนวคิด ReadRing ร่วมกับบิดาตาบอดผู้ล่วงลับ
  • คุณภัทริสา ศศิตระกูล – ผู้หญิงตาบอดเจ้าของธุรกิจส่งออก เชี่ยวชาญกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
  • ว่าที่ร้อยตรี สาณุรักษ์ ฟ่องวาริน – อาจารย์มหาวิทยาลัยคริสเตียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยการศึกษา
  • ผศ.ดร.นฤพร เต็งไตรรัตน์ – ที่ปรึกษา เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Processing, Image & Audio Processing, etc.

ทีมงาน ReadRing

ผลงานของทีม ReadRing

  • เคยเข้ารอบ 26 ทีมจากการประกวด dtac accelerate batch ครั้งที่ 5 ได้รับรางวัล Delta Angel Fund for Startup
  • เข้ารอบ 11 ทีม Medical Device Inno Awards (การประกวดแนวคิดนวัตกรรมการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2018

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาต้นแบบสู่การผลิตจริงโดยที่ใช้งบส่วนตัวของผู้ประดิษฐ์ และอยู่ในระหว่างการนำเสนอโครงการขอทุนจากต่างประเทศอีกหลายช่องทางเพื่อให้สามารถเริ่มผลิตได้ภายในปี 2019 ทุกท่านสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจเพื่อชีวิตคนตาบอดทั่วโลกด้วยการบอกต่อให้ทุกคนได้รับรู้ โดยสามารถติดตามความคืบหน้าได้ทาง Facebook ของ ReadRing ได้เลย