มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่หนึ่งชนิดที่แทบทุกบ้านเราว่าจะมีติดตั้งอยู่ นั่นก็คือเครื่องปรับอากาศ หรือคุ้นหูกันในชื่อ แอร์ นั่นเอง!

และครั้งนี้แบไต๋ ได้รับเกียรติจากทางบริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ LG ผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเครื่องปรับอากาศภายในบ้านระบบอินเวอร์เตอร์ เชิญพวกเราเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานกันถึงจังหวัดระยองเลยทีเดียว ณ โรงงานแอลจี อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์น ซีบอร์ต ระยอง

เริ่มต้นเราได้รับการกล่าวต้อนรับและเล่าถึงภาพรวมบริษัทจากคุณนิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และจากคุณวราพงษ์ อูปแก้ว ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด  ซึ่งกล่าวถึงความสำเร็จเกี่ยวกับรายได้ปีที่ผ่านมากว่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปีที่ 2019 นี้ LG ตั้งเป้าว่าจะไปให้ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหวังให้เติบโตขึ้นปีละ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวตัวโรงงานที่ระยองนั้นมีพื้นที่ถึง 192 ไร่ และใช้ไปแล้ว 92 ไร่ในส่วนของตัวโรงงาน ส่วนอีกกว่า 100 ไร่ที่เหลือนั้นกำลังรอการขยายตัวของบริษัทแม่อยู่ว่าจะมาเพิ่มฐานการผลิตที่ไทยมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากตอนนี้เริ่มย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่ไทยแล้ว โดยจะมุ่งเป้าให้ไทยมีกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตรวมของบริษัท

ซ้าย คุณวราพงษ์ อูบแก้ว ผู้อำนวยการโรงงาน                                                                    ขวา คุณนิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด

จากนั้นทาง LG ได้พาทีมงานเข้าไปชมภายในโรงงานเลยได้รู้ ได้เห็น กระบวนการผลิตที่น่าสนใจ ว่ากว่าจะเป็นแอร์แต่ละตัวไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก่อนจะไปดูกระบวนการคร่าว ๆ ภาพแรกที่เราค่อนข้างตกใจคือพนักงานส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง (90 เปอร์เซ็นต์ของพนักงาน) โดยเหตุผลคือทาง LG บอกว่าในงานละเอียดเช่นการประกอบ หรือตรวจทานสินค้า ผู้หญิงจะทำได้ละเอียดกว่าผู้ชาย

การประกอบคอยล์ร้อน, คอยล์เย็น

ช่วงแรกจะเริ่มจากการประกอบคอยล์เข้ากับท่อก่อน ซึ่งเป็นหัวใจหลักเลย ลักษณะจะเป็นการนำคอยล์มาใส่กับท่อด้วยมือ

ตรวจสอบความรั่วแบบเรียลไทม์

เมื่อประกอบเสร็จจะมาตรวจสอบทันทีเลยว่ารั่วหรือไม่ โดยจะมีจอคอยมอนิเตอร์เลยว่าคนไหนทำรั่วกี่ตัว หรือไม่ทำรั่วเลย ซึ่งตรงนี้จะสำคัญมากเพราะถ้าใครทำดีไม่มีรั่ว ก็มีเงินพิเศษด้วย บอกเลยว่าว้าว!

ตรวจสอบสูญญากาศ

จากนั้นก็จะมาเข้าห้องกระจกเพื่อตรวจสอบสูญญากาศ และเอาความชื้นออก

เข้าห้องตรวจสอบความรั่ว

ผ่านการเอาความชื้นออกแล้ว ได้แกนกลางเครื่องที่ดี ก็ถึงเวลาที่จะเริ่มเอาไปประกอบ แต่ก่อนอื่นต้องเอาไปตรวจสอบในห้องตรวจสอบความรั่วแบบละเอียดก่อน ถ้าไม่ผ่าน ต้องหยุดล็อตการผลิตที่กำลังทำอยู่ทันที เพื่อเช็คว่าเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีก็จะรันต่อไป

ใส่แผ่นซับเสียง

ตรงนี้น่าสนใจ เราเพิ่งเห็นว่าเค้าใส่แผ่นซับเสียงให้เราจริง ๆ ถ้าถามว่าใส่มากน้อยแค่ไหน LG บอกเราว่าใส่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเหมาะสมกับดีไซน์แอร์ ขั้นตอนนี้ทำด้วยมือ

ประกอบร่าง

เมื่อผ่านขั้นตอนทางเทคนิคแล้วก็นำมาประกอบร่างให้เป็นแอร์ ให้มีหน้าตาคุ้นหน้าอย่างที่พวกเราเห็น

  • ทดสอบความปลอดภัย

ก่อนจะส่งออกไปแพ็คใส่กล่อง แอร์ทุกตัวต้องผ่านการทดสอบความอดทน เอ๊ย! ความปลอดภัย โดยจะปล่อยกระแสไฟ 1,000 โวลต์  ใส่เป็นเวลา 1 วินาที ถ้าทนได้ก็ถือว่า ผ่าน! ***เราแอบคุยหลังไมค์มาว่าแอร์สามารถทนทานกระแสไฟ 1,000 โวลต์ ได้มากกว่า 1 นาที แต่ที่ทดสอบแค่ 1 วินาทีเพราะว่าในความเป็นจริง ของจะพังตั้งแต่วินาทีแรกที่กระแสไฟทะลั่กเข้าใส่แล้ว ดังนั้นจึงทดสอบเพียงแค่ 1 วินาที

ทดสอบเสียง

จากนั้นก็จะนำแอร์เข้าไปทดสอบในห้องเงียบ ซึ่งในห้องนั้นเงียบมาก ๆ มีวัสดุซับเสียงเต็มไปหมด ไร้ซึ่งเสียงสะท้อน โดยแอร์จะต้องไม่ดัง สลีปโหมดต้องไม่เกิน 18 เดซิเบล หรือถ้าเปิดเจ็ตโหมดเร่งทำความเย็นก็ต้องดังไม่เกิน 32 เดซิเบล

ทดสอบการใช้งานจริง

สุดท้ายก็จะนำแอร์มาทดสอบในห้องจำลองสภาพอากาศที่อุณหภูมิ 35 องศา เพื่อดูว่าแอร์ทำความเย็น หรือปรับอากาศได้จริงหรือไม่ โดยจะทดสอบนาน 24 ชั่โมง และเฉลี่ยทดสอบได้วันละ 200 ตัว!

แพ็คใส่กล่อง

ขั้นตอนนี้ก็ห่อพลาสติก รัดสาย PP BAND แล้วก็ใส่กล่องเพื่อเตรียมนำไปจัดจำหน่ายต่อไป

อนาคต LG กำลังศึกษาระบบเพื่อเตรียมจะติดแอร์ทั่วโรงงานของตัวเอง เพื่อให้พนักงานได้ทำงานกันอย่างสบายตัวสบายกายมากขึ้น และเตรียมจะเพิ่มการทำงานด้วยหุ่นยนต์ให้มากขึ้น ปัจจุบันในโรงงานของ LG เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์บ้างแล้ว เริ่มตั้งแต่รถยนต์อัตโนมติที่ใช้ส่งของตามส่วนต่าง ๆ และแขนอัจฉริยะยกของ

สุดท้ายถ้าใครสนใจมองหาแอร์ดี ๆ ไว้ติดบ้านลองมองมาทาง LG ได้นะ ล่าสุดเห็นว่ามีแบบประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบสามดาวด้วย คือ 1 ดาวประหยัดไฟได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ 3 ดาวก็ 30 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดสุด ๆ หรือจะเป็นแบบ Art Cool ที่ดีไซน์ออกมานอกจากจะเย็นแล้ว ยังเน้นความสวยงามด้วย