ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวการร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ และยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่หลังจากที่ได้มีประกาศการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวเพิ่มเติมในวันที่ 20 มีนาคม 2562 ในวันนี้ (21 มีนาคม 2562) พ.ร.บ. นี้ได้ผ่านการอนุมัติ และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ทันที!
สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องของวันเวลาที่ร่างกฎหมาย (เพราะมันบังคบใช้แล้ว) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ใครที่จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวกันบ้างมากกว่า
พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ มีเนื้อหาใจความสำคัญอยู่ว่า ‘การให้สถาบันการเงิน และ ผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยข้อมูลบัญชี ของผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.’ เพื่อรองรับระบบภาษี และ เอกสารการจัดการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนพัฒนาโครงสร้างระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ พ.ร.บ. นี้จะส่งผลกับผู้ค้าออนไลน์ทั้งในรูปแบบของนิติบุคคล และ บุคคลธรรมดา
คนที่จะส่งข้อมูลบัญชีน่าสงสัยให้กรมสรรพากรตรวจสอบ คือ สถาบันการเงิน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า
- ผู้ที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หรือ
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปี
จะต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ. โดยจะนับครั้งการโอนผ่านทุกช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้ ATM และ Internet Banking (ไม่นับรวมการโอนเงินเข้าบัญชีของตนเอง และ การโอนเงินให้คนอื่น)
เริ่มจะงงๆไหม? เรามาแยกข้อกำหนดนี้ดูกันทีละอัน
อย่างแรก ผู้ที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี ตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หมายความว่า คนที่ฝากหรือรับโอนเงินในทุกบัญชี (ทุกๆบัญชีที่เป็นชื่อเราในธนาคารนั้นๆ) มากกว่า 3,000 ครั้ง/ปี โดยเงื่อนไขนี้จะไม่สนใจยอดรวมของจำนวนเงิน
อย่างที่สอง ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป เงื่อนไขนี้ ต้องมีเงื่อนไขครบทั้งสองข้อถึงจะโดนส่งตรวจสอบ
การนับยอดโอนจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ ที่สำคัญข้อมูลของแต่ละธนาคารจะไม่เชื่อมโยงกัน ธนาคารไหนธนาคารนั้นนับแยกไป และไม่มีการตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีย้อนหลัง พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้แล้วก็จริง แต่สถาบันการเงินจะเริ่มส่งรายงานธุรกรรมเข้าตรวจสอบกับกรมสรรพากรครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563
พ.ร.บ. นี้ไม่ใช่ พ.ร.บ. เดียวกับภาษีการขายของออนไลน์นะ เพราะ พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์เป็นเพียงการเปิดบัญชีออกมาตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งจะโดนเก็บภาษีหรือไม่โดนก็ต้องดูกันอีกที
แต่ไม่ต้องตกใจไปเพราะ พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นเพียงการจัดระบบการเสียภาษีตามที่ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษีเท่านั้น และหากใครที่ยื่นเสียภาษีเป็นประจำก็ยิ่งไม่ต้องกังวลเข้าไปใหญ่ สิ่งที่คุณควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย และการเก็บเอกสารสำคัญๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานแจ้งตามข้อเท็จจริงหากเราโดนเรียกตรวจสอบเท่านั้นเอง