หลายท่านที่เคยใช้บริการของแอปพลิเคชันคิวคิว (QueQ) ย่อมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี กับการเป็นเจ้าตำรับในการจองคิวล่วงหน้าก่อนถึงที่หมาย ที่ทั้งสะดวก และประหยัดเวลามากกว่าเดิม ทำให้มีเวลาในการทำกิจกรรมส่วนตัวมากขึ้นระหว่างที่รอคิว นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวจนถึงตอนนี้ เป็นเวลาร่วมๆ 4 ปี ที่ให้บริการ และในครั้งนี้ ทางแอปคิวคิวได้จัดงาน #QQDD1 (QueQ Demo Day 1) เพื่อนำเสนอบริการที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม และพร้อมใช้งานบนแอปพลิเคชันคิวคิว รวมถึงเป็นเวทีในการให้โอกาสแก่เหล่าสตาร์ทอัพได้ทำการ Demo แอป บริการ และแพลตฟอร์มของตนเอง ให้ผู้คนได้ทราบกัน
ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ กล่าวต้อนรับผู้ที่มาร่วมงานและแนะนำบริการต่างๆ ที่ทางคิวคิวได้เพิ่มเข้ามาในแอปเวอร์ชันใหม่นี้
บริการใหม่ๆ ที่ทางคิวคิวได้เพิ่มลงในแอปเวอร์ชันล่าสุดนี้ ประกอบด้วย…
สั่งอาหารแบบรับกลับ
หลายท่านที่เดินทางไปทำงานพร้อมอาหารหรือเครื่องดื่มในมือ มักจะเจอปัญาในการสั่งอาหาร แล้วรอนาน จนทำให้พลาดรถโดยสารหรือเดินทางล่าช้ากว่าเดิม บริการนี้สามารถทำให้คุณสั่งอาหารหรือเครื่องดื่ม จากร้านค้าที่อยู่ในบริเวณทางผ่านของคุณ หรือจะสั่งจากร้านค้าที่อยู่ในละแวกที่ทำงานของคุณ หลังจากสั่งซื้อ กำหนดเวลาในการรับสินค้า และชำระค่าบริการแล้ว ตัวแอปจะปรากฎบัตรคิวแบบ Virtual เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการรับสินค้า ณ ร้านค้าที่คุณได้สั่งไว้
Auto Que
สามารถจองคิวแบบอัตโนมัติ ถือเป็นการต่อยอดฟีเจอร์การใช้งานของแอปที่เริ่มต้นให้บริการมาตั้งแต่ปีแรก โดยการจองอัตโนมัตินี้ สามารถกำหนดเวลาได้ว่าจะมาถึงที่หมายในเวลาเท่าไหร่ กำหนดได้ว่าจะจองร้านอาหารร้านไหน และจำนวนกี่คน แต่ทั้งนี้ ฟีเจอร์นี้มีการคิดค่าบริการในการจองคิวที่ 10 บาท เพื่อเป็นการการันตีให้กับทางร้านค้า และเป็นการป้องกันการกดจองคิวเล่นๆ สำหรับกลุ่มคนที่ชอบป่วนการต่อคิวผ่านแอป (ก็คล้ายๆ พวกที่ชอบโทรแจ้งตำรวจว่าไฟไหม้ที่หัวไม้ขีดนั่นแหละ…)
สั่งอาหารล่วงหน้า
บริการสั่งอาหารล่วงหน้า สำหรับพนักงานออฟฟิศ หรือผู้ใช้งานทั่วไป ที่ไม่สะดวกออกไปทานอาหารในช่วงเที่ยง และชอบสั่งอาหารมาทาน โดยเจอปัญหาที่ว่าค่าจัดส่งแพงกว่าค่าอาหารเสมอ และการจัดส่งที่รอเวลานาน บริการนี้จะสามารถสั่งจองเมนูอาหาร ให้มาส่งยังที่หมายที่ต้องการให้จัดส่ง และชำระค่าบริการได้ล่วงหน้า ที่สำคัญ ค่าบริการในการจัดส่งนั้นถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับแอปสั่งอาหารแอปอื่นๆ
จองคิวพบแพทย์
หลายท่านเสียเวลาในแต่ละวันกับการรอคิวพบแพทย์ที่โรงพยาบาล บริการนี้ช่วยแก้ปัญหาในการจองคิวแล้วมานั่งรอที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยการจองคิวนี้ จะได้รับใบคิวที่มาในแบบ QR Code ที่โรงพยาบาล และใบคิวนี้จะใช้ได้ครอบคลุมตั้งแต่การรับคิวการตรวจกับแพทย์ การชำระค่ารักษา และการจ่ายยา ข้อดีอีกข้อคือ ตัวแอปจะทำการแจ้งคิวให้ทราบว่าจะถึงคิวของเราในอีก 5 คิวข้างหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมและเผื่อเวลาในการมานั่งรอคิวที่หน้าห้องตรวจ
จองคิวเข้าใช้บริการธนาคาร
สำรองคิวการใช้บริการในธนาคาร ลดจำนวนการรอคิวนานในสาขา เพียงแค่เปิดแอปและทำการจองคิวการเข้าใช้บริการ แจ้งเวลาในการเข้าใช้ และธุรกรรมทางการเงินที่ท่านต้องการ เมื่อถึงสาขาที่นัดหมายไว้ ก้สามารถเดินเข้าเคาน์เตอร์แล้วรับบริการได้เลย โดยในตอนนี้ ทางแอปคิวคิวได้ทดลองการใช้งานบริการดังกล่าวกับทางธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เป็นจำนวน 25 สาขา
นอกเหนือจากบริการและฟีเจอร์ต่างๆ ที่ทางแอปคิวคิวได้ใส่เพิ่มลงไปในแอปเวอร์ชันล่าสุดนี่นั้น ทางคิวคิว ยังได้เปิดเวทีให้สตาร์ทอัพรายอื่นๆ ที่ทางแอปคิวคิวได้ให้การสนับสนุน รวมไปถึงพรรคพวกและพันธมิตรในวงการสตาร์ทอัพ ก้าวขึ้นมาบนเวทีเพื่อนำเสนอแอปพลิเคชันและบริการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น
Makub
แอปพลิเคชันสำหรับออฟฟิศโดยเฉพาะ แทนที่เครื่องตอกบัตรหรือเครื่องสแกนนิ้วในการเข้างาน แค่มาถึงออฟฟิศ เปิดแอป และกดปุ่มเข้างาน โดยอิงการเข้าออกงานจากพิกัดจีพีเอสที่ออฟฟิศได้กำหนดไว้ มาพร้อมแอปหลังบ้านที่ฝ่ายบุคคลสามารถตรวจสอบได้ว่าพนักงานคนไหนบ้างที่มาหรือไม่มาทำงาน แถมยังสามารถส่งใบลาและยื่นโอทีผ่านแอปได้ หมดยุคการกรอกฟอร์มกระดาษแล้วลุ้นว่าเอชอาร์จะเห็นไหม หรือเอกสารจะปลิวหายหรือไปปะปนกับเอกสารอื่นหรือไม่
Day Work
แอปสำหรับคนหางาน จะงานแบบพาร์ทไทม์ หรืองานรายวัน ก็สามารถหาได้จากแอปนี้ รวบรวมงานที่หลากหลายและค้นหางานที่เหมาะกับตัวเราได้ เลือกวัน เวลา และสถานที่ที่เราต้องการได้ รวมถึงเป็นแอปที่เก็บ Resume แบบออนไลน์ไว้ จะสมัครงานที่ไหนไม่ต้องยื่นเอกสารให้เสียเวลา และยังสามารถดูประวัติได้ว่าเคยทำงานที่ไหนมาบ้าง สะดวกในแอปเดียว
Follovv (ฟอลโล่)
แอปสำหรับคนชอบเที่ยวที่มีไว้จดบันทึก จะบันทึกเป็นภาพถ่าย หรือถ่ายทอดออกมาเป็นบทความก็ได้ รมไปถึงยังสามารถเก็บประวัติได้ว่าเคยไปที่ไหนมาบ้าง (คล้ายเก็บตราวีซ่าในเล่มพาสปอร์ต) นอกเหลือจากนี้ ตัวแอปยังทำหน้าที่เสมือนไกด์นำเที่ยว ในการแนะนำว่าในแต่ละพื้นที่นั้นๆ มีที่ท่องเที่ยวที่ไหนบ้างที่ควรไปเยือน รวมไปถึงมีฟีเจอร์แปลงค่าเงิน, แปลงหน่วยวัดต่างๆ, และตรวจสอบอุณหภูมิในประเทศต่างๆ ได้อีกด้วย และยังได้ร่วมกับ Readme ในการนำบทความและรีวิวการท่องเที่ยงของบล็อกเกอร์ชื่อดังไว้ให้ได้อ่านกัน ส่วนใครอยากแชร์ทริปที่เราเคยไปมาแล้ว ก็แขร์ขึ้นแอปนี้ได้เช่นกัน
Giztix
แอปที่ช่วยเรื่องของการขนส่ง สามารถเรียกรถบรรทุกและรถขนส่งมาให้บริการถึงที่ จองคิวการใช้บริการขนส่งและได้รับค่าบริการที่ได้มาตรฐาน ไม่สูงจนเกินไป มีตั้งแต่รถขนส่งขนาด 4 ล้อ ไปจนถึงขนาด 22 ล้อ จะใกล้หรือไกลก็ส่งได้หมด มาพร้อมกับระบบหลังบ้าน สำหรับผู้ประกอบการขนส่ง สามารถจัดคิวรับส่ง และตรวจสอบสถานะของรถได้ตลอดเวลา และที่สำคัญ แอปนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเครื่อซีเมนต์ไทย (SCG) ในการนำระบบดังกล่าวนี้มาใช้กับรถขนส่งในการนำส่งวัสดุและเคมีภัณฑ์ก่อสร้าง ไปส่งยังที่หมายของลูกค้า
Arin Care
แพลตฟอร์มบริหารจัดการยา สำหรับร้านขายยาในยุคนี้ ลบภาพกระดาษหนึ่งปึกและปากกาหนึ่งแท่งไปได้เลย เพราะในปัจจุบันนี้ มีผุ้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากยาที่ซื้อตามร้านขายยา ก่อนจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์และมีร้านขายยาในประเทศมากกว่า 20,000 แห่งด้วยกัน แพลตฟอร์มนี้ใช้ในการลงทะเบียนตรวจสอบยา นับจำนวนยาที่มีในคลังยา ไปจนถึงแจ้งรายละเอียดของยาแต่ละชนิด และวันหมดอายุของยาอีกด้วย ซึ่งไม่ได้มีแค่ร้านขายยาที่มีการใช้งานจริง โรงพยาบาลบางแห่งยังมีการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังมีการต่อยอดเป็นหน้าเว็บไซต์สั่งซื้อยา Arin Link เพื่อช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายของยาในส่วนที่เกินขึ้นมาจากราคาจำหน่ายปกติตามท้องตลาด รวมถึงเป้นตัวกลางระหว่างผู้จำหน่ายยา กับร้านขายยาและโรงพยาบาล
OOCA
แอปและเว็บไซต์เฉพาะทาง สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ช่วยลดเวลาในการไปพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาล และทำให้การพบแพทย์นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวมากขึ้น ด้วยการวิดีโอคอลคุยกับแพทย์ ทั้งนี้ ยังพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัท สามารถนำไปใช้งานเพื่อประเมินสุขภาพจิตของพนักงานในบริษัทและองค์กร และยังพัฒนาให้บริการแก่นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้สามารถปรึกษากับแพทย์ได้ และเป็นช่องทางในการมอบกำลังใจ ให้น้องๆ ที่อยู่ในภาวะดังกล่าวนี้ กับแพลตฟอร์ม Wall of Sharing โดยสามารถฝากข้อความให้กำลังได้ที่หน้าเว็บไซต์ wallofsharing.com
ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญในวงการสตาร์ทอัพของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ กับการเปิดเผยแนวทางใหม่ๆ ในการให้บริการ และเปิดตัวแอปและแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่ออำนวจความสะดวกให้กับผู้ใช้งานในแต่ละบริการ สำหรับฟีเจอร์และการใช้งานต่างๆ ของแอปพลิเคชันคิวคิวที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ท่านใดที่อยากลองใช้งาน ก็สามารถดาวน์โหลดแอปเวอร์ชันล่าสุดมาใช้บริการได้ ทาง App Store และ Google Play Store
Spend Your Time Wisely
สำหรับท่านใดที่อยากรับชมการ Demo แอปและบริการต่างๆ ภายในงาน QueQ Demo Day สามารถรับชมได้จากคลิปบันทึกการถ่ายทอดสดได้เลย