เลขาธิการกสทช. ขอชี้แจง จากกรณีแนวคิดในการจัดเก็บรายได้จากบริการ Over the Top อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ และทวิตเตอร์ ยืนยันว่ายังคงเป็นแค่แนวคิดที่ยังไม่ได้ผลสรุป และยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
หลังจากที่มีกระแสและความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกสทช. ถึงแนวคิดที่จะจัดเก็บรายได้จากการให้บริการคอนเทนท์ในรูปแบบ OTT หรือ Ovet the Top รวมไปถึงการปรับลดแบนด์วิดธ์ให้ลดน้อยลง หากผู้ให้บริการรายใดไม่ให้ความร่วมมือในการนำส่งรายได้ให้กับทางกสทช. นั้น ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ได้ออกมาชี้แจงถึงกระแสจากเรื่องดังกล่าวที่ส่งผลไปในทางลบว่า แนวคิดในการจัดเก็บรายได้นี้ เป็นข้อหารือในหลายๆ ประเทศ มีมาไม่น้อยกว่า 2 – 3 ปีมาแล้ว สำหรับประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนนั้นก็ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวนี้แล้วด้วย เนื่องจากผู้ให้บริการ OTT เหล่านั้น ให้บริการโดยใช้โครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมของแต่ละประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ว่าไม่มีการเสียภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ และปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมที่ต้องมีการสร้าง และมีการปรับปรุง และการบำรุงรักษาอยู่ทุกปี
เลขาธิการกสทช. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวคิดในการจัดเก็บค่าใช้บริการโครงข่ายจาก OTT ที่มีการใช้งานโครงข่ายโทรคมนาคมในปริมาณที่มาก และมีทราฟฟิกการใช้งานสูง มีการนำเสนอขึ้นมาครั้งแรกบนเวทีในงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเปิดประเด็นทางความคิดและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการดำเนินการเรื่องของการจัดเก็บรายได้จากการประกาบธุรกิจประเภท OTT โดยในแนวคิดนี้ ตัวของเลขาธิการกสทช. ในฐานะประธานอาเซีนยด้านโทรคมนาคมในปีนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยรับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว
นอกเหนือจากนี้ สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ OTT นั้น ในหลายประเทศอยากให้ดำเนินการ ทางด้านประเทศไทยเองนั้น ได้มีความพยายามในการจัดเก็บเมื่อช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากเหล่าแอดมินเพจ บุคคลผู้มีชื่อเสียง ผู้ที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ และเหล่ายูทูบเบอร์ ซึ่งทางกสทช. มีแนวคิดที่จะเสนอให้บริการ OTT เหล่านั้นต้องลงทะเบียนในประเทศไทย รวมไปถึงได้เปิดให้ผุ้ให้บริการ OTT เข้ามาลงทะเบียนกับทางกสทช. ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้น ตัวของเลขากสทช. เอง และหลายต่อหลายฝ่ายต่างไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่สามารถบังคับให้ผู้ที่ให้บริการ OTT ให้เข้ามาลงทะเบียนในประเทศไทยได้ (ซึ่งคุณหนุ่ย พงศ์สุข ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนที่ได้ไปร่วมให้ความเห็นกับเรื่องดังกล่าวนี้)
ดูย้อนหลัง: แบไต๋ไลฟ์ “กสทช. จะลากแอดมินเพจเฟซบุ๊กขึ้นทะเบียน คุณคิดว่าปัญหาและปัญญามันบรรจบกันไหม?” (OA: 08/06/2560)
รวมไปถึงในหลายต่อหลายประเทศในอาเซียนก็ได้มีความพยายามให้ OTT ไปลงทะเบียนในประเทศของตนเองเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
เลขาธิการกสทช. ได้กล่าวย้ำเป็นการทิ้งท้ายว่า เรื่องดังกล่าวนี้ยังเป็นแค่แนวคิดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้แต่อย่างใด ซึ่งหากที่ประชุมอาเซียนให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว ทางสำนักงานกสทช. จะทำการเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด หากแนวทางต่างๆ ที่สำนักงานกสทช. เสนอออกมาแล้วหลายฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หรือมีแนวทางที่ดีกว่า ทางกสทช. ก็พร้อมน้อมรับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ทั้งประเทศชาติ ประชาชน รวมไปถึงผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการ OTT ด้วย
สรุปสั้นๆ คือ แนวคิดดังกล่าวนี้เคยมีการเสนอและเปิดเวทีรับฟังมาแล้วเมื่อสองปีที่ผ่านมา และจะมีการนำเสนออีกครั้งในปีนี้ โดยจะเสนอในเวทีการประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ถ้าในที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ จะสามารถดำเนินการขึ้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นได้ แต่ถ้าหลายต่อหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยแล้วนั้น ทางกสทช. จะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นและคำแนะนำ เพื่อนำมาปรับใช้และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ในส่วนของเรื่องนี้ ต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ทางกสทช. จะทำออกมาและชี้แจงให้ทั่วไปได้ทราบนั้น จะมีความชัดเจนไปในทิศทางใด และจะเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบมากที่สุด ก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง…