หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา ผ่าทางออกให้กับผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ให้สามารถทำเรื่องขอคืนใบอนุญาต และยกเลิกการเก็บค่างวดในสองงวดสุดท้าย และในฝั่งโทรคมนาคม ยืดระยะเวลาชำระค่างวดคลื่นความถี่ 900 เมกกะเอิร์ตซ์ จากเดิมสี่งวด ออกไปเป็นสิบงวดนั้น ล่าสุด สำนักงานกสทช. ได้มีการเรียกเชิญตัวแทนจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโทรคมนาคม มารับฟังถึงข้อชี้แจงจากกสทช. และรับฟังข้อเสนอเพิ่มเติมจากตัวแทน
โดยเลขาธิการกสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และเรื่องเกี่ยวข้องต่างๆ ที่ผู้ประกอบการจะต้องทราบ
ส่วนของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม
ตามคำสั่งของคสช. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ระบุไว้ว่า การขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิม 4 งวด เป็น 10 และให้กสทช. ทำการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์นั้น สำนักงานกสทช. ได้ออกหลักเกณฑ์ดังนี้
คลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ที่กสทช. นำมานั้น เป็นการจัดสรรให้ผู้ให้บริการได้ใช้งาน ไม่ใช่การประมูลเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา โดยกสทช. จะเริ่มทำการจัดสรรคลื่นความถี่ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจากการประเมินราคาในเบื้องต้น คาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000 – 27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ (คาดว่าถ้าทั้งสามค่ายขอรับคลื่นที่จัดสรรนี้ กสทช. จะได้เงินเป็นจำนวนประมาณ 75,000 – 81,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งผู้ให้บริการที่ได้รับคลื่นไปแล้ว ยังไม่ต้องชำระเงินทันทีในเดือนมิถุนายน แต่ให้ชำระในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยเงินที่ได้มานั้นจะนำไปเป็นเงินเยียวยาให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่อไป
แต่การจัดสรรนี้มีข้อแม้คือ ผู้ให้บริการรายใดที่ไม่รับเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวนี้ จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการขยายระยะเวลาชำระคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 งวด เป็น 10 งวด และคลื่นความถี่ที่จัดสรรแต่ไม่มีผู้มารับไปนั้น ทางกสทช. จะนำคลื่นความถี่ในชุดดังกล่าวมาเข้าสู่ระบบการประมูลเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งเลขาธิการกสทช. ได้เสริมมาว่า การจัดสรรคลื่น 700 ที่ว่ามานี้ เป็นไปตามคำสั่งของคสช. ที่ใช้มาตรา 44 ในการออกคำสั่ง ทำให้กสทช. สามารถทำได้ทันเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ถ้าหากไปใช้วิธีการประมูลเหมือนครั้งก่อนๆ เกรงว่าจะไม่ทันเวลา
ส่วนของผู้ประกอบกิจการดิจิทัลทีวี
ทางด้านดิจิทัลทีวีที่มีการเปิดช่องให้คืนใบอยุญาตได้ ยกเว้นค่างวดในสองงวดสุดท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณ หรือ MUX นั้น เลขาธิการกสทช. ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การยื่นคำร้องขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้นสามารถขอยื่นได้จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยกสทช. ข้อให้ทุกสถานีเข้ามารับคำร้องเหล่านี้ไปก่อน ส่วนจะตัดสินใจขอยื่นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการของแต่ละสถานี
ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แผนการเยียวยาจะเป็นที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสถานีใดที่ขอยื่นคำร้องไปแล้วนั้น หากเห็นว่าแผนเยียวยาหรือข้อเสนอที่ทางกสทช. มีให้กลับมานั้น ยังไม่เป็นที่พอใจ สามารถขอยกเลิกคำร้องที่ขอยื่นไปก่อนหน้านี้ก็ได้ ถ้ายังไม่อยากคืนก็ไม่ต้องยื่นคำร้องก็ได้ แต่ถ้าพ้นกรอบเวลาที่เปิดให้ยื่นคำร้องไปแล้ว จะไม่สามารถขอยื่นคำร้องย้อนหลังได้ โดยเงินชดเชยหรือเงินเยียวยาที่ทางกสทช. จะส่งคืนให้นั้น จะสรุปผลในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเงินเยียวยาที่ว่ามานี้ จะมาจากเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ในเดือนมิถุนายน
ในส่วนของการยื่นชำระค่างวดใบอนุญาตนั้น ยังมีสถานีที่ยังค้างส่งค่างวด จำนวน 17 ช่อง ซึ่งส่งมาแค่เพียงสองงวดเท่านั้น ทางกสทช. จะตรวจสอบและยื่นหนังสือแจ้งเตือนไปยังสถานีที่ชำระล่าช้าต่อไป ให้ชำระภายใน 120 วัน นับตั้งแต่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ (ซึ่งจะไปตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2562) หากยังไม่มีการชำระให้ครบจำนวน จะต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
คาดว่ามีช่องที่จ่อคืนใบอนุญาต 7 – 8 ช่อง!
สำหรับช่องที่มีการชำระค่างวดในงวดที่ห้าเข้ามาแล้วนั้น ทางสำนักงานกสทช. จะนำเงินที่ชำระมาแล้วส่งคืน เพื่อเป็นไปตามคำสั่งที่ระบุไว้ว่า ให้งดเว้นการชำระค่างวดในงวดที่ 5 และงวดที่ 6 โดยในตอนนี้มีเพียงสามสถานีที่ชำรงวดที่ห้าเข้ามา ได้แก่ สปริงนิวส์ (19), เวิร์คพอยท์ (23) และช่อง 7 เอชดี (35) สำหรับการชำระค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณ หรือ MUX ทางกสทช. จะรับผิดชอบในการชำระแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต่อไปอีก 9 ปี 6 เดือน หรือจนกว่าใบอนุญาตประกอบกิจการจะสิ้นสุดลง
ที่มา: Manager, ThaiPBS, Workpoint News, สำนักข่าวอิศรา