“ธนาคารไทยพาณิชย์” และ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” เผยความคืบหน้าความร่วมมือโครงการ “Siriraj Smart Hospital” (ศิริราช สมาร์ท ฮอสปิทอล) ที่นำดิจิทัลโซลูชั่นและนวัตกรรมทางการเงินมาสร้างสรรค์และเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่แก่ผู้มารับบริการด้านสุขภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง
จากรูปแบบดั้งเดิมสู่บริการสุขภาพดิจิทัล 4.0 ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการมารับบริการและการบริหารจัดการตนเองให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมเปิดตัวสองเครื่องมือสำคัญที่จะมาเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพเพื่อประชาชน ได้แก่
แอปพลิเคชัน “Siriraj Connect” (ศิริราช คอนเน็ค) ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยฟีเจอร์ไฮไลท์แจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้าและเลื่อนนัดเองได้ การเช็คอินลงทะเบียนตรวจด้วยตนเองจากบ้านเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ หมดกังวลเรื่องคิวตรวจด้วยระบบเช็คคิวและแจ้งเตือนคิวตรวจแบบเรียลไทม์ สามารถเช็คคิวเจาะเลือดและรับยา ค้นหาและบันทึกข้อมูลยาได้ด้วยตนเองเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด รวมถึงแผนที่ภายในและภายนอกอาคารของโรงพยาบาล และยังชำระเงินได้จากแอปพลิเคชันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่ Self-Payment Kiosk (เซลฟ์ เพย์เมนต์ คีออส) เครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ สามารถรับชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ คิวอาร์โค้ด บัตรเครดิต บัตรเดบิต และเงินสด เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการที่โรงพยาบาลศิริราชซึ่งมีจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ต้องใช้เวลานานรอคิวชำระเงินที่เคาน์เตอร์อีกต่อไป ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นการขานรับนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 และร่วมสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
นางสาวปิยะอาภา เจริญเวช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย Corporate Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society อย่างต่อเนื่องผ่านยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ (Customer Experience) ให้กับลูกค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัล ในสถาบันการศึกษา วัด รวมถึงโรงพยาบาล ในครั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จับมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สององค์กรที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากกว่า 100 ปี และเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของประเทศ ร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางด้านดิจิทัล และสังคมไร้เงินสดใน “โรงพยาบาลศิริราช” โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันสู่การเป็น “Siriraj Smart Hospital” (ศิริราช สมาร์ท ฮอสปิทอล) เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับเปิดตัวสองเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ แอปพลิเคชัน “Siriraj Connect” (ศิริราช คอนเน็ค) ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ และ Self-Payment Kiosk (เซลฟ์ เพย์เมนต์ คีออส) เครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ ที่พัฒนามาให้รองรับปริมาณผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลศิริราช ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพยุคดิจิทัล 4.0 ให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการทีสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “โรงพยาบาลศิริราชเปิดให้บริการแก่ประชาชนชาวไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 131 เป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดินที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับสากลด้วยระบบการให้บริการที่สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ “Thailand 4.0” โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการให้บริการมอบประสบการณ์ใหม่และสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานของบุคลากรที่ช่วยให้ระบบการทำงาน และขั้นตอนต่างๆ มีความปลอดภัย มีคุณภาพ สะดวก และรวดเร็วขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ใช้บริการให้ดียิ่งขึ้น เพราะสิ่งสำคัญคือการปรับตัวให้ก้าวทัน ก้าวนำ และก้าวล้ำวิทยาการให้สามารถดูแลสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยต่อไปอย่างยาวนาน”
“นอกจากเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร สิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ มาตรฐานการให้บริการแก่คนไข้ และผู้ใช้บริการในทุกๆ ด้าน ในแต่ละวันศิริราชมีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่า 10,000 คน ดังนั้น เพื่อให้การมอบประสบการณ์ใหม่ด้านสุขภาพที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ใช้บริการเกิดขึ้นได้จริง เราจึงได้มองหาหน่วยงานหรือองค์กรพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกัน การได้ร่วมมือกับ “ธนาคารไทยพาณิชย์” จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากธนาคารฯ จะเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศที่มีองค์ความรู้ และความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นองค์กรที่มีแนวคิดในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลฯ นั่นคือ เรื่องของ “Customer Focus” หรือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้บริการ รวมถึงมีความมุ่งมั่นพัฒนาบริการในรอบด้าน พร้อมรับมือ และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากทุกมิติการให้บริการอย่างแท้จริง” รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าวเสริม
ด้านนายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “แอปพลิเคชัน Siriraj Connect และ Self-Payment Kiosk เครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลผลิตจากความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลศิริราชให้ดียิ่งขึ้น ทันสมัยขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีและความต้องการของผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด สำหรับแอปพลิเคชัน Siriraj Connect มีฟีเจอร์การใช้งานที่โดดเด่น ได้แก่
- การแจ้งเตือนวันนัดหมายล่วงหน้า (Notification) หมดปัญหาการลืม หรือทำใบนัดหาย เหมือนมีผู้ช่วยคอยแจ้งเตือนผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
- การเช็คอินลงทะเบียนตรวจเพื่อยืนยันเวลานัดก่อนเข้าพบแพทย์ (Check-in and Queue Notification) ผู้ใช้บริการสามารถเช็คอินหรือลงทะเบียนตรวจล่วงหน้าผ่านแอปฯ ในวันตรวจตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึงก่อนเวลานัด 30 นาที สามารถใช้เวลาระหว่างรอคิวทำธุระต่างๆ ได้อย่างสบายใจ เพราะเมื่อใกล้ถึงคิว ระบบจะแจ้งเตือนคิวตรวจ (Queue Notification) และสามารถเช็คคิวผ่านแอปฯ ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดความแออัดหน้าห้องตรวจ และคลายความกังวลเรื่องคิวให้กับผู้ใช้บริการ (ระบบเช็คอินลงทะเบียนตรวจล่วงหน้าเริ่มใช้งานแล้วในคลีนิคอายุรศาสตร์ และอยู่ระหว่างการขยายงานให้ครบทุกคลีนิคในปีนี้)
- ทำนัดหมายครั้งต่อไป (Make an Appointment) ทางโรงพยาบาลจะแจ้งรายการนัดหมายผู้ป่วย โดยข้อมูลนัดหมายจะถูกบันทึกลงในแอปฯ พร้อมแจ้งเตือนล่วงหน้า 4 วัน ก่อนถึงวันนัดครั้งถัดไป ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยอาจทำใบนัดหาย หรือลืมนัดได้
- แสดงคิวเจาะเลือดและรับยา/ ค้นหา/ บันทึกข้อมูลยา (Rational Drug Use) ผู้ใช้บริการสามารถเช็คคิวเจาะเลือดและรับยาผ่านแอปฯ และเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดที่หน้าซองยา ก็จะสามารถตรวจสอบและบันทึกข้อมูลยาของตนเอง ว่าเคยได้รับยาอะไรบ้าง ไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “Self-Payment Kiosk” เครื่องรับชำระค่ารักษาพยาบาลอัตโนมัติ ซึ่งสามารถรับชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ คิวอาร์โค้ด บัตรเครดิต บัตรเดบิต และเงินสด เพื่อเพิ่มช่องการการรับชำระเงินค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่ปลายปี ทำให้โรงพยาบาลฯ สามารถให้บริการประชาชนได้รวดเร็วขึ้น
ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความร่วมมือกับทางศิริราช โดยเราหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลฯ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด และสามารถผลักดันให้โรงพยาบาลศิริราชกลายเป็นสมาร์ท ฮอลปิทอล (Siriraj Smart Hospital) ที่มีระบบนิเวศทางด้านดิจิทัล และสังคมไร้เงินสดที่แข็งแกร่ง เปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพที่ประชาชนจะได้รับให้ดียิ่งขึ้น มุ่งสู่การเป็น “ศิริราช 4.0” พลิกโฉมการแพทย์การสาธารณสุขของประเทศ และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบรับความต้องการของประเทศไทยได้อย่างครบวงจร”
สำหรับ Self-Payment Kiosk นั้น มีการติดตั้งและให้ใช้งานภายในโรงพยาบาลจำนวน 6 เครื่อง โดยตั้งอยู่ที่อาคารสยามินทร์ 1 เครื่อง และอาคารผู้ป่วยนอก จำนวน 5 เครื่อง เพื่อรองรับการชำระค่าบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล สามารถรับชำระได้ทั้งเงินสด บัตรเครดิตและบัตรเดบิต และสแกนชำระผ่าน QR Payment ซึ่งสามารถชำระได้ทุกธนาคาร และในอนาคต จะมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ อีกด้วย รวมไปถึงแอปพลิเคชั่น Siriraj Connect นั้น หากเป็นผู้ป่วยนอกที่ไม่มีประวัติเป็นผุ้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช หรือบุคคลภายนอก เช่น ญาติ หรือครอบครัว ที่ต้องการเดินทางมายังอาคารต่างๆ ภายในโรงพยาบาลศิริราช ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียน เฉพาะการใช้งานในส่วนอื่นๆ เช่น แผนที่ภายในและภายนอกอาคาร, ข้อมูลยา หรือปฏิทินและประกาศประชาสัมพันธ์จากทางโรงพยาบาล