“FameLab Thailand 2019” เวทีนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์ระดับโลกในประเทศไทย ให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายใน 3 นาที จัดขึ้นแล้วเป็นปีที่ 4 โดยความร่วมมือระหว่าง บริติช เคานซิล กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทรู คอร์ปอเรชั่น สวทช. สอวช. อพวช. เดอะ สแตนดาร์ด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ยูรักเซส (EURAXESS) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันบนเวที FameLab International 2019 ในเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก “Cheltenham Science Festival” ณ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2562
โครงการ FameLab Thailand 2019 ในปีนี้ถือว่าเข้มข้นและเต็มไปด้วยคุณภาพกับผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ที่มีทั้งนักศึกษา นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบอัดแน่น และทักษะการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ได้ฝึกฝนกับ ดัลลาส แคมป์เบลล์ (Dallas Campbell) วิทยากรผู้มากประสบการณ์ในการนำเสนอรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์ ตลอดช่วงมาสเตอร์คลาสที่ผ่านมา
รายชื่อผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายและหัวข้อในการแข่งขัน
- FL001 นางสาว รัชนีกร มีเนียม : อาการผีอำ เรื่องสยองขวัญที่เป็นจริง
- FL002 นาย เอกสิทธิ์ สอนโพธิ์ : ผู้แหกกฎธรรมชาติ
- FL003 นาย วิวรณ์ มีชูธน : ‘Protecting Those Who Protects us: Understanding Light Weight Multi-Threat Composite Armor’
- FL004 นาย คชานนท์ นิรันดร์พงศ์ : รากฐานของกาลเวลา
- FL005 นางสาว จรรยพร โกฏิมนัสวนิชย์ : ฉันนะเหรอ… “โรคจิต” ?
- FL006 นาย กรัสวัน คงคาเพ็ชร์ : เลเซอร์ทางทันตกรรม: การรักษาใหม่สำหรับทุกคน
- FL007 นางสาว ณภัทร ตัณฑิกุล : Lab-grown Meat: เนื้อสัตว์ผลิตในห้องแลบ อาหารแห่งอนาคต
- FL008 นางสาว เบญญาภา วงศราวิทย์ : โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง – โรคซีทีอี (อาการเมาหมัด)
- FL009 นาย สุทธิชน รัตนยาติกุล : การบำบัดโรคฟันผุด้วยเคมีแสงต้านจุลชีพ
- FL010 นาย นวพล เชื่อมวราศาสตร์ หุ่นยนต์ : มนุษย์
รับชมบันทึก Live สดได้ที่นี่
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในยุคสมัยของไทยแลนด์ 4.0 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่ง และศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่ทำหน้าที่หลักในการผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม นอกจากความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยของบุคลากรแล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังต้องมีทักษะในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้สังคมในวงกว้างเข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และงานวิจัย โดยเฟมแล็บ (FameLab) ถือเป็นโครงการที่ช่วยให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตในระดับบุคคล และพัฒนาประเทศในองค์รวม
ด้าน ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มทรูเล็งเห็นความสำคัญของการสื่อสารที่จะสามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการแบ่งปันองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว เวที FameLab เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอ “การสื่อสารวิทยาศาสตร์” ให้คนรับรู้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยากเสมอไป ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ทาง ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ FameLab ซึ่งถือเป็นโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มทรู ที่มุ่งมั่นสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร โดยจะนำศักยภาพด้านการสื่อสารของกลุ่มทรู สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โครงการให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ผ่านช่องรายการ ของทรูวิชั่นส์ / True4You / TNN 24 / ทรูปลูกปัญญา รวมถึง Social Media ของกลุ่มทรู นอกจากนี้ จะทำการถ่ายทอดสดการแข่งขัน FameLab รอบชิงชนะเลิศผ่านทาง Facebook Live ของ เพจ British Council Thailand และนำเทปบันทึกการแข่งขันไปออกอากาศทางช่องทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นช่องรายการยอดนิยมสำหรับเยาวชนและคนในวงการการศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย
มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยจะมีประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อสังคมได้รับประโยชน์และเข้าถึงความรู้นั้นๆ ดังนั้นการสื่อสารผลงานวิจัยและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโลกวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปให้เข้าถึงความรู้มีความสำคัญอย่างมาก เห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรระดับนานาชาติหลากหลายองค์กรได้หันมาให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ใช้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และยังทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โครงการเฟมแล็บ (FameLab) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและสังคม ที่จัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 25 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการเฟมแล็บในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 และได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลทั่วไป ในการร่วมกันทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถใช้วิทยาศาสตร์อธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เป็นแรงสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ผู้ชนะเลิศ FameLab Thailand Competition 2019 คือ นางสาว ณภัทร ตัณฑิกุล จะได้รับเงินรางวัลเพื่อสนับสนุนด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์มูลค่า 20,000 บาท สิทธิ์ในการเลือกเยี่ยมชมห้องแล็บใดก็ได้ในทวีปยุโรป และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันในเวที FameLab International ในเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก Cheltenham Science Festival 2019 ณ สหราชอาณาจักร ในระหว่างวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2562 นี้ อย่าลืมตามเชียร์กันนะครับ