ในเมื่อหัวเว่ยประกาศรุกนโยบาย #TECH4ALL คือประกาศจะ “ทำหมด” กับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกในทุกอุตสาหกรรม/กิจการงานบนโลก

ตอนนี้มี CPU นานับชนิดที่ผลิตได้เองเพื่อให้ตรงต่องานแต่ละด้าน (มี CPU ชื่อ Ascend เพื่อ A.I. คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่ต้องคำนึงถึงกฎพื้นฐาน)

Huawei Connect 2019

มีเครื่องประมวลผล A.I. ใหม่ชื่อ #Atlas900 เก็บดาต้ามาประมวลให้ปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นในทุกขณะ ด้วยอัตราความเร็ว 256~1024 PFlops (“เพตาฟล็อป” สูงกว่า “เทระ” และ “กิ๊กกะ” อีก 1~2 วรรณะ ตามลำดับ) เคลมว่าสามารถ “สแกนทางช้างเผือก” ได้ในเวลา 10.02 วินาที และกำลังใช้ในกิจการขององค์กรอวกาศ SKA แล้ว (ฝรั่งยิ้มเลยว่าประหยัดการขนขึ้นคลาวด์อื่น ๆ ไปเยอะมาก)

Atlas 900 คลัสเตอร์การเทรน AI ที่รวดเร็วที่สุดของโลก

Atlas 900 พัฒนาขึ้นจากเทคนิคขั้นสูงซึ่งหัวเว่ยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมประสานพลังของโพรเซสเซอร์ Ascend หลายพันตัว โดย Atlas 900 จะใช้เวลาเพียง 59.8 วินาทีในการเทรน ResNet-50 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักในการวัดประสิทธิภาพการเทรน AI โดยสถิติใหม่นี้เร็วกว่าสถิติโลกเดิม 10 วินาที

Atlas 900 คือขุมพลังของการประมวลผล AI และจะนำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ด้านดาราศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ และการขับขี่อัตโนมัติ ไปจนถึงการสำรวจหาน้ำมัน หัวเว่ยยังได้ติดตั้ง Atlas 900 ไว้ในหัวเว่ย คลาวด์ อีกด้วย โดยเป็นบริการแบบคลัสเตอร์ ที่ทำให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเข้าถึงพลังในการประมวลผลแบบพิเศษนี้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น หัวเว่ยได้เสนอบริการต่าง ๆ เหล่านี้ในราคาพิเศษแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

Ska Huawei Connect 2019

ตัวเลขที่น่ากลัวกว่า (กลัวแทนอเมริกา) คือ เขาตั้งเป้าจะมี “นักพัฒนา” หรือโปรแกรมเมอร์ในระบบนิเวศของตัวเองมากถึง 5 ล้านคน และพร้อมสร้างระบบคอมพิวเตอร์เพื่อลูกค้าทั่วโลกที่มีความต้องการ

มูลค่าตลาดที่จะเติบโตต่อคือ “2 ล้านล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ” (เข้าใจอะไร ๆ แล้วนะครับ) … เป็นตัวเลขที่ใหญ่มาก ในสังเวียนยุคสมัย A.I. ที่หัวเว่ยต้องการนิยามใหม่ว่า Advance Intelligent ให้เหนือกว่า Artificial Intelligent ที่โลกรู้จักบ้างแล้ว

กลยุทธ์การประมวลผลของหัวเว่ย

แนวคิดในอุตสาหกรรมทางด้าน Computing นั้นกำลังพัฒนาจากโมเดลแบบมีกฎที่ตายตัว (Rule-based) มาเป็นแบบเชิงสถิติ ซึ่งเป็นรากฐานของ Machine Learning ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การประมวลผลเชิงสถิติจะกลายมาเป็นกระแสหลัก และการประมวลผลของ AI จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของรูปแบบการประมวลผลที่ใช้กันทั่วโลก

เพื่อความสำเร็จในตลาดนี้ กลยุทธ์ของหัวเว่ยจะมุ่งเน้น 4 ด้านดังต่อไปนี้

  • นวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรม ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เปิดตัวสถาปัตยกรรม Da Vinci ซึ่งเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมโพรเซสเซอร์ใหม่ ที่ออกแบบมาให้เป็นทรัพยากรในการประมวลผลที่มั่นคงและกว้างขวาง แต่ให้บริการในราคาที่สมเหตุสมผล หัวเว่ยจะยังคงลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานนี้ต่อไป
  • การลงทุนในโพรเซสเซอร์ที่รองรับการใช้งานทุกรูปแบบ หัวเว่ยมีโพรเซสเซอร์หลากหลายรูปแบบ เช่น Kunpeng (คุนเผิง) โพรเซสเซอร์สำหรับการประมวลผลอเนกประสงค์, Ascend (แอสเซนด์) โพรเซสเซอร์สำหรับ AI, Kirin (คิริน)โพรเซสเซอร์สำหรับสมาร์ตดีไวซ์ และ Honghu (หงหู) โพรเซสเซอร์สำหรับสมาร์ตสกรีน
  • ขอบเขตด้านธุรกิจที่ชัดเจน หัวเว่ยจะไม่ขายโพรเซสเซอร์โดยตรง แต่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าในรูปแบบของบริการคลาวด์ และส่งให้บริษัทคู่ค้าในรูปแบบของชิ้นส่วนประกอบ เพราะเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโซลูชันแบบผสานรวม
  • สร้างระบบ Ecosystem ที่เปิดกว้าง ในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะลงทุนงบประมาณอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการสร้างนักพัฒนา เพื่อขยายโครงการให้รองรับนักพัฒนาอีก 5 ล้านคน และทำให้บริษัทคู่ค้าของหัวเว่ยทั่วโลกสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันและโซลูชันรุ่นใหม่ๆ สำหรับอนาคตข้างหน้า

Huawei Connect 2019

มร. เกา เหวิน สมาชิกสภาวิศกรรรมแห่งชาติจีนและผู้อำนวยการสถาบันเผิงเฉิง ได้อธิบายถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์ของสถาบันเผิงเฉิงและการทำงานร่วมกับหัวเว่ยเพื่อสร้างระบบที่รวมซุปเปอร์คอมพิวติ้งและปัญญาประดิษฐ์เครื่องแรกของประเทศจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบประมวลผลระดับ Exascale ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มรุ่นใหม่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม AI พื้นฐาน

มร. เจิ้ง เย่ไหล ประธานบริหาร ของหัวเว่ยคลาวด์ กล่าวถึงการประยุกต์ใช้ AI ในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อศึกษาจากประสบการณ์ของหัวเว่ยที่ทำโครงการมามากกว่า 500 โครงการ ในอุตสาหกรรมกว่า 10 สาขา มร. เจิ้ง ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเปลี่ยนจากการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงแคบสู่การเป็นขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการปรับเปลี่ยนบริษัทสู่ยุคดิจิทัล

“นี่เป็นยุคใหม่ของการค้นคว้า” มร. เคน หู กล่าวสรุป “มหาสมุทรแห่งศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดกำลังรอเราอยู่ แต่เราจะข้ามไปไม่ได้หากเรามีเรือเพียงลำเดียว วันนี้เราขอส่งเรือหนึ่งพันลำออกจากฝั่ง ขอให้เราทำงานร่วมกัน คว้าโอกาสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และยกระดับความอัจฉริยะขึ้นไปอีกขั้น”

HUAWEI CONNECT 2019 เป็นงาน Flagship ประจำปีซึ่งหัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลก โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Advance Intelligence” ที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ สำหรับลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ให้โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต

ยังมีความน่าสนใจอีกมากในงานนี้ ผมจะทะยอยอัปเดตและถ่ายคลิปย่อย ๆ ในจำนวนมากมาให้ชมผ่านสื่อ #beartai ทุกช่องทางครับ

หนุ่ย พงศ์สุขใน Huawei Connect 2019

หนุ่ย. พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
เขียนสรุปคร่าว ๆ จาก “ช่วงเช้า” ทันทีที่ได้รู้ในงาน #HuaweiConnect 2019 มหานครเซี่ยงไฮ้ วันแรก 18 กันยายน 2019

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส