กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จับมือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผสานมุมมองและประสบการณ์ระดับโลกจากเอกชน โดยไมโครซอฟท์ ร่วมวางรากฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทยในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) มุ่งสรรสร้างสังคมไทยและเทคโนโลยีอัจฉริยะ เสริมศักยภาพให้กัน ภายใต้หลักจริยธรรม เป็นก้าวแรกในการสร้างความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัยของระบบ AI

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับด้านยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน คณะกรรมการฯ ได้บรรจุเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 2 อันว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลต่างๆ และปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพและภูมิปัญญาของคนไทยไปพร้อมกันนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปูรากฐานเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นไปในรูปแบบที่คำนึงถึงบริบททางสังคมและจริยธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบที่เอนเอียง ไม่เป็นธรรม และยับยั้งการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในทิศทางที่ผิดต่อจริยธรรม เป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์ จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ร่างเอกสารหลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ “Digital Thailand – AI Ethics Guideline” ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับทั้งผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการผู้ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งยังเป็นการชี้แจงให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิและความเสี่ยงในการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว จึงถือเป็นก้าวแรกในการสร้างความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมั่นคงปลอดภัยให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ได้อยู่ร่วมกับสังคมไทยอย่างลงตัว

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายพุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับร่างเอกสารหลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ “Digital Thailand – AI Ethics Guideline” ได้ผ่านการนำเสนอสู่สาธารณชนและสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกในวันนี้ (21 ตุลาคม 2562) โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชนในการสร้างร่างเอกสารดังกล่าวขึ้น เพื่อวางแนวทางในขั้นแรกเริ่มในด้านหลักการทางจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ โดยสามารถแยกแนวทางนี้ออกได้เป็น 6 ประการ ได้แก่

  1. ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะต้องได้รับการส่งเสริมความการใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรม พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากลกำหนดให้มีแนวทางการปฏิบัติในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล โดยเคารพต่อความเป็นส่วนตัว เกียรติ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน
  3. วามโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ ควรมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งจะต้องมีภาระความรับผิดชอบ ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นตามภาระหน้าที่ของตนได้
  4. ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ควรได้รับการออกแบบให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันการโจมตีจากภัยคุกคาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล ตามหลักจริยธรรม
  5. ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม ควรมีการออกแบบและพัฒนาโดยคำนึงถึง ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการผูกขาด ลดการแบ่งแยกและเอนเอียง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก และ
  6. ความน่าเชื่อถือ ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการใช้งานต่อสาธารณะ โดยมีผลลัพธ์อย่างถูกต้องแม่นยำ พร้อมการดำเนินการควบคุมคุณภาพและความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลได้

ด้าน ผศ. ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพและบทบาทที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างทวีคูณของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาและใช้งานข้อมูลในชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับข้อมูลและระบบต่างๆ หรือการใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ถูกนำไปใช้งานในทางที่ผิด ซึ่งร่างเอกสารฉบับนี้ ได้ระบุถึงข้อแนะนำและแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา ผู้ให้บริการ และผู้ใช้งาน ทั้งยังครอบคลุมถึงมุมมอง ตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติขั้นต้น และข้อแนะนำมากมายที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้ งในภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ โดยประเทศไทยนับเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาด้านดังกล่าว ในฐานะผู้ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตั้งต้นด้านการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์กับสังคมมนุษย์ จากประสบการณ์และมุมมองเชิงนโยบายในฐานะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดภายใต้ความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนในประเทศไทยต่อไป

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส