ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ Blockchain Thailand Genesis 2019 งานมหกรรมด้านบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 3,000 คน! (เพิ่มจากการจัดงานเมื่อปี 2018 เกือบ 3 เท่า)
โดยภายในงานที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.2019 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ Blockchain & The Future of Thailand’s Digital Economy โดยกล่าวว่า
“ในปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล และจากผลการศึกษาของ World Economic Forum พบว่า ในปี 2022 ร้อยละ 60 ของ GDP โลก จะมาจากภาคส่วนด้านดิจิทัล จึงเป็นที่รู้กันว่า เทคโนโลยีดิจิทัล มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่เทคโนโลยีดิจิทัล ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มีอิทธิพลในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงส่งผลให้เกิดโมเดลธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมรูปแบบใหม่ หากวันหนึ่งเราสามารถเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยน ข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นระหว่างกัน แบบตัวต่อตัว หรือที่เรียกกันว่า Peer to Peer ในระบบออนไลน์ โดยไม่มีตัวกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ยังคงไว้ซึ่งความถูกต้อง โปร่งใส และเชื่อถือได้ เราจะมีข้อมูลประวัติการรักษาของตนเองจัดเก็บอยู่ในทุกโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถเข้าถึงประวัติและสามารถทำการรักษาได้ทันที หากได้รับอนุญาตในการเข้าถึงข้อมูล หรือเราจะสามารถจัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก พร้อมกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดกระบวนการ โดยอาจจะนำไปใช้ในหลายกิจกรรม เช่น ภาคการเกษตร ในการตรวจสอบข้อมูลผลผลิตย้อนกลับ ด้านการค้าระหว่างประเทศในการจัดทำเอกสารสัญญา ระหว่างกัน การบริหารจัดการ Big Data ที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการความโปร่งใส ติดตามได้ และทราบแหล่งที่มา”
ทั้งนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรียังกล่าวถึงคุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยี Blockchain อย่างการ Decentralize หรือการปราศจากตัวกลางว่า
“จะทำให้เกิดการกระจายอำนาจ มีความโปร่งใส ติดตามได้ตลอดกระบวนการ และจะต้องมีการยินยอมระหว่างกันจึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ คือ เทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain”
พร้อมทั้งยกกรณีตัวอย่างการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ของหลายองค์กรหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศว่า
“การสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลิกโฉมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วย Blockchain ในต่างประเทศ เช่น การจดสิทธิบัตรการให้บริการ ด้วย Blockchain มากกว่า 12,000 รายการ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมัน โดยบริษัทที่จดสิทธิบัตรมากที่สุด 512 รายการ คือ Alibaba Group Holding รองลงมา คือ Nchain จากสหราชอาณาจักร จำนวน 468 รายการ และ IBM 248 รายการ สำหรับในประเทศไทยภาคส่วนที่ใช้ Blockchain มากที่สุด คือ ภาคส่วนด้านการเงินและ การธนาคาร หรือที่ส่วนที่เรารู้จักกันในนามของ FinTech เช่น การให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บน Blockchain โดยบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นรวมตัวกันของ 22 ธนาคาร และ 9 กลุ่มธุรกิจใหญ่ เป็นการทำธุรกรรมกับหลายฝ่ายโดยไม่ต้องการตัวกลาง ทั้งนี้ นอกจากที่จะมีการซื้อขายหน่วยสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency แล้ว ยังมี การใช้ Blockchain ไปกับกิจกรรม อื่น ๆ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าในโครงการบ้านจัดสรร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยี Blockchain ของไทยยังติดปัญหาบางประการ เช่น การแทนที่ระบบเดิมที่ใช้อยู่ ปัญหาด้านข้อบังคับ และปัญหาความปลอดภัย”
ภายในงานยังมีบุคคลสำคัญอีกมากมาย ที่มาร่วมพูดคุยในหัวข้อต่างๆ อาทิ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงาน กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ขึ้นพูดในหัวข้อ แนวทางการส่งเสริม และพัฒนาบุคลากรด้านบล็อกเชน, ดร.นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต. ขึ้นพูดในหัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล และการกำกับดูแลในประเทศไทย นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ พูดในหัวข้อ GovTech และ Blockchain: อนาคตแห่งโลกนวัตกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก คือการเสวนา แลกเปลี่ยนมุมมอง ให้ความรู้ว่าเกี่ยวกับเส้นทางในอนาคตของ Bitcoin และ Blockchain ตลอดจนมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ 2.0 โดยกูรูประจำวงการอย่างคุณอัครเดช เดี่ยวพานิช (Coinman) ประธานกรรมการ Cryptomind และคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Bitkub Group และคุณวิชิต ซ้ายเกล้า Founder, ChitBeer มาในหัวข้อที่เรียกเสียงฮือฮาได้ อย่าง Craft Beer, Bitcoin & Democratization: คราฟต์เบียร์ บิตคอยน์ และประชาธิปไตย
นอกจากนี้บนเวที Genesis Stage ยังมีวงเสวนาสุดเข้มข้น ในหัวข้อ เมื่อมหาอำนาจของโลกสร้างเงินดิจิทัล โดย ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ทิพยสุดา ถาวรามร และตฤบดี อรุณานนท์ชัย, รวมถึงวงเสวนาหัวข้อ ธนาคารและการปฏิวัติครั้งใหญ่ในยุคดิจิทัล โดยผู้เชี่ยวาญ และบุคลากรสำคัญในวงการธนาคารอย่าง คุณญาณวิทย์ รักษ์ศรี Principal Visionary Architect, KBTG คุณอิทธิพันธ์ เจียกเจิม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Global Transaction Banking Services, SCB และคุณพัชรินทร์ บุญล่ำสัน Commercial Digital Solutions, Krungsri
ด้าน Advance Stage หรือเวทีสำหรับผู้มีความสนใจที่เฉพาะทาง ก็เปิดเวทีด้วยการแชร์มุมมองและประสบการณ์ของ คุณวัชระ เอมวัฒน์ Co-Founder, SIX Network ที่มาพูดในหัวข้อ The New era for copyright ยุคสมัยใหม่ของลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
รวมถึงการแชร์ความรู้ที่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างรอฟัง คือเรื่องเกี่ยวกับ การระดมทุนแห่งอนาคตด้วย ICO/STO
หัวข้อ Blockchain for Business Transformation และ DeFi (Decentralize Financial) โลกการเงินที่ปราศจากศูนย์กลาง รวมถึงยังมีการแชร์และอัปเดต เรื่องข้อกฏหมายควรรู้ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย
และยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละวงการ ผลัดเปลี่ยนขึ้นให้ความรู้ตลอดทั้งวัน เช่น The importance of Wallet Security, Blockchain on Data Industry, Blockchain for enterprise, ลงทุนอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก, Smart contract on Bitcoin ฯลฯ
และอีกโซนที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานในวันนั้น คือส่วนของการ Workshop ที่มีหัวข้อน่าสนใจให้เข้าร่วมมากมาย อาทิ เวิร์กชอป Bitcoin & blockchain 101 (บิทคอยน์ และบล็อกเชน คืออะไร), เวิร์กชอป Crypto Wallet 101 (ความสำคัญของ Crypto Wallet ทำไมทุกคนควรต้องมี), เวิร์กชอป Trading 101 : Cryptocurrency Trading (เทคนิคพื้นฐานการเทรดคริปโต) หรือหัวข้อสุดฮอตที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อย่าง Libra Workshop 101 ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เกี่ยวกับสกุลเงิน Libra ที่กำลังสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
งาน Blockchain Thailand Genesis 2019 ได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการจัดงานนี้ คือขับเคลื่อนและผลักดันวงการเทคโนโลยีไทยให้ก้าวไปข้างหน้า เตรียมพร้อมสำหรับการมาถึงของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมของคนทั้งโลก และในหลายภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ดังแนวคิดหรือธีมหลักในการจัดงานนี้ คือ The Future of Financial Disruption ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงมากมายในวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชน
นำโดยสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ที่ประกอบด้วยสื่อด้านบล็อกเชนอย่าง Siam Blockchain, Bitcoin Addict และ Blockchain Review พร้อมด้วย Cryptomind บริษัทให้คำปรึกษาการสร้างธุรกิจบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลแบบครบวงจร พร้อมการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงภาคเอกชนอีกจำนวนมาก ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ อาทิ Novum Capital, Bitkub, Velo, TenX, HashCube, Coolbits, SE Digital, Tezos, SIX Network, Om Platform, RSK, Carboneum, ธนาคารออมสิน, Happy Coin, D-network, Sky ICT, Atato, Smart Contract Thailand, Flipay, Siam Bitcoin, Digital Trader, ETDA, Krungsri Finnovate, CP All และ AIS
ซึ่งทางผู้จัดงานคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุน และการตอบรับที่ดีจากผู้สนใจเข้าร่วมงานในปีถัดไป รวมถึงการเดินสายจัดงานให้ความรู้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ งาน BlockMountain2 ที่จะจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่จะถึง ซึ่งทีมงานแบไต๋ฯ จะนำรายละเอียด รวมถึงภาพบรรยากาศ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในงาน มาให้แฟนแบไต๋ฯ ได้อัปเดตความรู้เทคโนโลยีใหม่ไปพร้อมกันในโอกาสถัดไป