เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการผลักดันสตาร์ตอัปไทย หลังพบว่านโยบายการสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยของภาครัฐยังไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี
ทางผู้ประกอบการเทคโนโลยีมองว่า นโยบายการสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยของภาครัฐเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ตอัปไทย ไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติภายในประเทศของตนเองได้ โดยผู้ประกอบการตั้งข้อสังเกตว่า แพลตฟอร์มและการบริการรายใหญ่ในประเทศไทยเป็นบริการจากต่างชาติ ส่งผลให้ทรัพยากรในประเทศรั่วไหลเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงข้อมูล (Data) ของคนไทย ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าอย่างยิ่งต่อภาครัฐและเอกชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“เรื่องที่เราคิดว่าเราจะจัดการแพลตฟอร์มต่างชาติ อาจจะเป็นเรื่องยาก เขาอยู่ในเมืองไทย เขาไม่ต้องใช้สสารอะไรในท้องที่ของเราเลย เขาขยายโดยการที่ทุกคนใช้บนมือถือ เพราะฉะนั้นข้อมูลคือสิ่งจำเป็น ปัจจุบันข้อมูลหรือกิจการทั้งหมดที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทาง การกิน การชอปปิงทุกอย่างเป็นของต่างชาติหมดเลย แพลตฟอร์มพวกนี้เราจะสร้างของไทยขึ้นมาเพื่อปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศไทย” นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) กล่าว
ในวันนี้ (25 ธันวาคม 2562) ทางสมาคม TTSA ได้มีการหารือและพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวทางและข้อเสนอแนะในการผลักดันสตาร์ตอัปไทยกับ กมธ.ดีอีเอส ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย โดยภายหลังจากการหารือ ทางสมาคม TTSA ได้ยื่นหนังสือแก่ตัวแทน กมธ.ดีอีเอส คือ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีใจความเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่
- นโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ตอัปไทย โดยมีการรณรงค์ให้เกิดนโยบาย ‘กินของไทย ใช้ของไทย’ สำหรับสตาร์ตอัป
- นโยบายเพิ่มข้อได้เปรียบในการทำการค้าสำหรับสตาร์ตอัปไทย โดยผลักดันให้มีกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการของต่างประเทศ และลดภาษีสตาร์ตอัปผู้ให้บริการของไทย
- นโยบายปลดล็อกทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการสตาร์ตอัป สนับสนุนให้เกิดการนำข้อเสนอทางกฎหมายดังที่ได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ไปใช้จริง เช่น ESOP, Convertible Note, Capital Gain Tax Exemption และ Vesting
“ในนามของ กมธ.ดีอีเอส วันนี้คณะกรรมาธิการได้เห็นแล้วว่า จริง ๆ แล้ว ปัญหาการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างชาติ มันเป็นปัญหาแค่เล็ก ๆ ในมิติหนึ่งเท่านั้น ยังมีมิติอื่นที่คณะกรรมาธิการ สภา แม้กระทั่งรัฐบาลเองควรจะเล็งเห็นมากกว่านี้ คือการสนับสนุนผู้ประกอบการ การสนับสนุนระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศไทยให้พร้อมที่จะเติบโต ในยุคของดิจิทัลที่ทั่วโลกเขาได้นำหน้าเราไปหลายประเทศแล้ว หนังสือฉบับนี้ เนื้อหาเหล่านี้ จะถูกนำเข้าสู่คณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป และคิดว่าคงจะได้พูดคุยกับสมาคม TTSA ในคณะกรรมาธิการนี้อีก” นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส