สรุปวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยปี 2020
- พลิกโฉมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กร ตั้งเป้าหมายเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด พร้อมรับมือยุคดิสรัปชั่น ด้วยบุคคลากรที่มีความสามารถควบคู่กับรูปแบบการทำงานที่คล่องตัวสูง
- ตอกย้ำจุดแข็งบริการธนาคารที่มั่นคง ไว้ใจได้ ด้วยวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงเชิงรุก ดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ระบบความปลอดภัย และป้องกันการทุจริตได้มาตรฐานสากล เตรียมใช้ AI เสริมประสิทธิภาพตรวจจับภัยไซเบอร์ พร้อมจัดการความเสี่ยงงานด้านเครดิตในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
- ไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการผนึกพลังพันธมิตรเชิงลึก ให้ลูกค้าใช้บริการอย่างไม่มีสะดุดบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตร ทั้งแลกคะแนนสะสมบัตรเครดิต ซื้อสินค้าบน K PLUS เพิ่มบัตรสมาชิกแบรนด์ดัง ปล่อยสินเชื่อ ดันสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 1.78 แสนล้านบาท
- ดูแลลูกค้าในโลกไร้พรมแดน CCLMVI ด้วย Digital Technology พร้อมแสวงหาพันธมิตรเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจและตอบโจทย์ชีวิตชนชั้นกลางยุคใหม่ในภูมิภาคเอเชีย เผยอยู่ระหว่างเตรียมการยื่นขออนุญาตเพื่อการจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น สร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง
- KBTG มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและบุคลากร เพื่อให้บริการลูกค้าในทุกมิติของไลฟ์สไตล์ ตั้ง “KASIKORN X” สร้างรายได้ใหม่ให้แบงก์และสร้างฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย พร้อมเป้าหมายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของอาเซียน ในปี 2565 เตรียมงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และด้านบุคลากรใน 3 ปีนี้ กว่า 17,000 ล้านบาท
ภาพรวมธนาคารกสิกรไทย “เพิ่มอำนาจให้ลูกค้า”
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย
ธนาคารกำลังถูก disrupt แน่นอน
แต่ธนาคารกสิกรไทยก็ตั้งใจว่าจะผ่านมันไปได้ ซึ่งจะใช้กลยุทธ Empower ให้ผู้ใช้และธุรกิจของลูกค้า ลูกค้าจะได้อำนาจ ได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ได้โซลูชันการเงินจากกสิกรไทยและพาร์ตเนอร์ โดยมั่นใจว่ากสิกรไทยตั้งมากว่า 75 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด เช่น
- 1992 ธนาคารปรับขั้นตอนการทำงานใหม่ให้เร็วขึ้น
- 1997 วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งกสิกรไทยรอดมาได้ และปรับปรุงกระบวนการภายในให้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก
- 2005 ปรับองค์กรให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
- 2007 เริ่มทำ data analytic ทำให้สร้างแคมเปญที่โดนใจลูกค้าเป็นคน ๆ และเริ่มทำ Core Banking
ลูกค้าจะเป็นผู้ชนะและก้าวนำการเปลี่ยนแปลงไปกับเรา
โดยธนาคารจะขับเคลื่อนธุรกิจบน 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร (8 Transformation Journeys)
- Ecosystem Orchestrator & Harmonized Channel ร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจ ผสานช่องทางบริการอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน
- Intelligent Lending ปล่อยสินเชื่อรายบุคคลจากฐานข้อมูลอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง
- Proactive Risk & Compliance Management การจัดการความเสี่ยงในเชิงรุก ป้องกันความเสียหาย และติดตามต่อเนื่อง
- New Growth in Regional Market แสวงหาโอกาสและการเติบโตในตลาดระดับภูมิภาค
- Data Analytics ศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูล จะเป็นหัวใจในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการ
- Cyber Security & IT Resilience ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการทางไอทีที่รวดเร็ว
- Performing Talent and Agile Organization ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถและร่วมกันขับเคลื่อน ด้วยการทำงานแบบ agile ที่มีความคล่องตัวสูง
- Modern World Class Technology Capability เพิ่มศักยภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยียุคใหม่มาตรฐานระดับโลก
ความหายนะกับโอกาส
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
ความปลอดภัย ความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือเป็น 3 สิ่งที่ธนาคารต้องมี ซึ่งสำหรับธนาคารกสิกรไทยแล้ว มีการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) โดยธนาคารมีมุมมองในการจัดกลุ่มความเสี่ยง และแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 แกนหลัก ดังนี้
- บริการธนาคาร กสิกรไทยจะได้จัดการให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด มีเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ ซึ่งมีเยอะกว่าที่ทางการต้องการ 171% ส่วนเรื่องสภาพคล่องก็มีมากกว่า 188%, ตอนนี้โอนเงินผ่าน PromptPay 7.4 ล้านครั้งต่อวัน (ในวันที่สูงที่สุด) และมีการโกงเงินผ่าน Visa น้อยที่สุดใน S/E Asia
- การให้บริการดิจิตอล รักษาความปลอดภัยของข้อมูลดิจิตอลตามมาตรฐานสากล ISO 27001 และมาตรฐานอื่น ๆ ซึ่งพนักงานก็ทำได้ดีด้วยการอบรมต่าง ๆ คู่ค้าเองก็มีการเชื่อมต่ออย่างปลอดภัย ได้มาตรฐาน
- ESG Integration การใช้ทรัพยากรอย่างพอเหมาะ ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มีการตั้ง Chief Environment Officer เช่นดูการปล่อยสินเชื่อว่าให้ไปแล้วกระทบสิ่งแวดล้อมไหม ถ้าโครงการไหนไม่ผ่าน ESG Assessment แม้ดูแล้วมีเครดิตดี ก็ไม่ให้ผ่าน รวมถึงจะไม่ให้สินเชื่อกับอะไรที่ไม่ถูกต้อง เช่นการพนัน
ความเสี่ยงไม่เคยหลับ
ผนึกพันธมิตรสร้างบริการไปอยู่ทุกที่ที่ลูกค้าอยู่
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย
ปริมาณธุรกรรมผ่าน K PLUS เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางสาขายังมีปริมาณมากเช่นกัน โดยมีปริมาณเกินกว่า 100 ล้านรายการ แม้ว่าผู้ใช้ไปธนาคารน้อยลงจริง แต่ยังไงถ้าเรายังใช้เงินสดอยู่ สาขาก็ต้องมี ซึ่งเราก็ยังมีกลุ่มที่ใช้ทั้งสาขาและแอปก็เพิ่มขึ้น 50% ส่วนจำนวนธุรกรรมปี 2019 ก็สูงขึ้นเป็น 8,500 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2017 ที่ 2,900 ล้านบาทมากๆ
สิ่งที่ธนาคารต้องคิดตอนนี้คือทำยังไงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของผู้ใช้ที่ใช้มือถือ 5 ชั่วโมงต่อวัน กสิกรไทยจึงร่วมกับพาร์ทเนอร์มากมายเพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศน์ต่างๆ ซึ่งก็มีหฃายอย่างที่กสิกรไทยทำ
- ‘Powered by KBank’ เชื่อมต่อทุกอย่างให้ใช้งานได้อัตโนมัติจบในแอปพลิเคชันเดียว ไม่ต้องออกจากแอปฯ เพื่อจ่ายเงินหรือเติมเงิน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการชำระเงินของลูกค้า เช่น การพัฒนาอี-วอลเลต Blue CONNECT, GrabPay, YouTrip, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าพันธมิตรรวมกว่า 1.3 ล้านราย
- เชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าของพันธมิตรต่าง ๆ กับลูกค้าของธนาคารเข้าด้วยกัน โดยมี K PLUS เป็นช่องทางหลัก ด้วย 2 ฟีเจอร์
- เพิ่มบัตรสมาชิก (Add Card) โดยลูกค้าสามารถเพิ่มบัตรสมาชิกของแบรนด์ต่าง ๆ ได้บน K PLUS ทั้งสิ้น 13 แบรนด์ เช่น AIS Points, AirAsia BIG Loyalty, PTT Blue Card, The1 ทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกบัตร สามารถเช็คคะแนนสะสม รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ
- ชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคะแนนสะสมบัตรเครดิตใน K+ Market เป็นช่องทางในการแลกคะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยที่มีฐานลูกค้าถือบัตรกว่า 2.97 ล้านบัตร ในปีที่ผ่านมา มีลูกค้าใช้คะแนนบัตรเครดิตกสิกรไทยเพื่อแลกซื้อสินค้าหรือบริการรวมกว่า 1,400 ล้านคะแนน
- บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกันบน K PLUS และในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมกับบริษัท LINE Financial จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด โดยเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่ออย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ LINE BK ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดเล็กทั้งลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว สะดวกสบาย ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Lending) ได้รวมกว่า 36,000 ล้านบาท
ปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบุคคล (Consumer Lending) เพิ่ม 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2562
ธุรกิจข้ามพรมแดน
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธ.กสิกรไทย
โลกนี้มีปัญหาเกิดขึ้นตลอด เช่นโรคระบาด สงคราม (เอาแค่มกราคม 2020 ก็เกิดเรื่องเต็มไปหมดแล้ว) แต่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมออย่าง 5G, คนชั้นกลางใหม่ที่มาพร้อมอำนาจการซื้อใหม่ ๆ เราต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมกับสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้
ธนาคารกสิกรไทยใช้กลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ในการขยายตลาดในภูมิภาคเพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงตลาดลูกค้าต่างประเทศและนำเสนอบริการรองรับการทำธุรกรรมและธุรกิจข้ามประเทศของลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านความสามารถของธนาคารโดย
- เสาะหาพันธมิตร (Partnering) ประกอบด้วยเครือข่ายบริการของธนาคารกสิกรไทยในรูปแบบสำนักงานผู้แทน สาขา และธนาคารท้องถิ่น รวม 14 แห่งในภูมิภาค และการสร้างพันธมิตรธนาคารในภูมิภาค 72 ธนาคาร คาดว่าในปี 2563 จะมีความคืบหน้าของการจัดตั้งสาขาหรือการหาลู่ทางการทำธุรกิจธนาคารในประเทศเมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศจีนมีแผนขยายธุรกิจใหม่
- การแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Scouting and matching) ผ่านบริษัท K-Vision ที่เฟ้นหาสตาร์ตอัปทั่วโลก ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตร การเข้าไปลงทุน และการซื้อเทคโนโลยี โดย K-Vision มีดิจิทัลแลบ 5 แห่ง ที่ กรุงเทพฯ จาการ์ต้า โฮจิมินห์ซิตี้ เซินเจิ้น และเทลอาวีฟ อยู่ในกระบวนการคัดเลือกเทคพาร์ทเนอร์อย่างเข้มข้น โดยคาดว่าบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรจะมีจำนวนมากถึงกว่า 1,000 บริษัท เพื่อใช้ Digital Technology เข้ามาตอบโจทย์ในการธุรกรรมทางการเงินและเชื่อมโยงสู่ลูกค้าของธนาคาร
นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายและการหาพันธมิตร รวมทั้งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านบริษัท K-Vision แล้ว ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง บริษัท ไคไต้ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited) หรือไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ส่วนหนึ่งของ Greater Bay Area ที่รัฐบาลจีนวางเป้าหมายเป็น The Silicon Valley of China ที่อุดมด้วยบริษัททางเทคโนโลยี จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นดี และเป็นศูนย์รวมบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านดิจิทัล ภารกิจหลักของ ไคไต้ เทค คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการให้บริการของธนาคารกสิกรไทย ประเทศจีน การให้บริการดิจิทัลในภูมิภาค และสามารถนำนวัตกรรมที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์กับธนาคารกสิกรไทยและลูกค้าไทยด้วยเช่นกัน โดยเอเชียถือเป็น Tech Powerhouse ซึ่ง unicorn เกิดในเอเชีย 33% และในปี 2018 บริษัทไทยมีรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 4 ของโลก
นอกจากนี้ธนาคารยังช่วยธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce เช่นอินโดนีเซียที่มีประชากรเกือบ 260 ล้านคน โดยร่วมมือกับบลีบลีดอทคอม (www.Blibli.com) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย จากการเปิดตัวในช่วงเดือนธันวาคมปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยลงทะเบียนกับบลีบลีดอทคอม แล้วกว่า 200 ราย มีสินค้าไทยที่ขายบนแพลตฟอร์มมากกว่า 1,500 รายการ พร้อมจัดโปรโมชันและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในประเทศอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น
โครงสร้างเทคโนโลยียุคใหม่ที่แข็งแกร่ง พร้อมหนุนเชื่อมต่อกับพันธมิตร
เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG)
KBTG เดินหน้าขับเคลื่อนแกนกลางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย (KBank’s New Digital Core, Powered by KBTG) ในแกนสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
- วางรากฐานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ (Modern Architecture and Infrastructure) ประกอบด้วย
- ระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud ได้อย่างรวดเร็ว (Hyper and Hybrid Multi Cloud)
- การวางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด (Security and Data Privacy Uncompromised)
- การทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว (Infrastructure-as-Code)
การวางรากฐานและโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับได้ถึง 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด รับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบจำนวนรวม 12,000 ล้านรายการ โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ
- เครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI (Enable KBank to become AI and Innovation Factory) KBTG สร้างขีดความสามารถใหม่เทียบเคียงบริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยผสานแพลตฟอร์มของข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Data and AI Pipeline) และกระบวนการจัดการนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเร่งสปีดการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทย
- เปิด API เชื่อมต่อเข้ากับระบบบริการของธนาคาร (Open Banking API) ปัจจุบันมีการเปิดรับการเชื่อมต่อสำหรับบริการหลากหลาย อาทิ การเชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงิน Pay with K PLUS (Pay with K PLUS API) เชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR API), เชื่อมต่อเพื่อยืนยันตัวตน (Authentication API), เชื่อมต่อบริการอี-วอลเล็ต (E-Wallet API) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพันธมิตรเชื่อมต่อ API กับระบบธนาคารกว่า 50 บริษัท
นอกจากนี้ KBTG มีวิสัยทัศน์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยแนวทางการทำงาน ดังนี้
- สร้างศักยภาพให้เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) คือการเป็นธนาคารอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและตอบโจทย์ของลูกค้า (Data-Driven Cognitive Bank) โดยมีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับการพัฒนาแบบเต็มรูปแบบ
- จากเทคโนโลยี AI สู่เทคโนโลยีขั้นสูง (Beyond AI Deep Tech Capability) ด้วยการสนับสนุนงานวิจัย และเปิดการเชื่อมต่อกับพันธมิตร (Open Tech Capabilities) เพื่อนำเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนไปผลิตนวัตกรรมและบริการที่เป็นประโยชน์ เช่น การร่วมมือกับ NECTEC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการวิจัยเรื่อง Thai NLP เป็นต้น
- มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาค (Beyond Thailand – Towards Regional Tech Organization) ตามที่ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง ไคไต้ เทค ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัปจีนที่มีศักยภาพทางด้านนวัตกรรมที่ล้ำหน้าจำนวนมาก แหล่งรวมบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีกว่า 300 บริษัท และโอกาสในการเข้าสู่อีโคซิสเต็มซึ่งเป็นหัวใจหลักทางเทคโนโลยีของประเทศจีน
- ยกระดับการเติบโตแบบใหม่ ด้วยการตั้ง KASIKORN X หรือเรียกอีกชื่อว่า KX เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย บริษัทจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยมีวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน สภาพแวดล้อม และผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดที่เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ
ทุกวินาทีต้องจัดการข้อมูล 50 TB จึงต้องสร้าง Hybrid cloud ที่ขยายออกไปได้ทันที
ประเด็นการปิดสาขาธนาคารกสิกรไทย
เรื่องนี้ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยชี้แจงว่า ปีนี้น่าจะปิดประมาณ 80 สาขา แต่ก็มีเปิดในที่ใหม่ด้วย ซึ่งหักลบกันแล้ว น่าจะปิดราว 40-50 สาขา ซึ่งสาเหตุที่ปิดสาขาก็เบสิกเลยคือ เปิดผิดที่ ทั้งเปิดแล้วลูกค้าไม่เยอะ หรือย่านนั้นพฤติกรรมคนเปลี่ยน คนไม่ค่อยเข้าธนาคารตรงนั้นก็ปิดไป แต่ผู้บริหารก็ยืนยันว่าจะไม่ได้เอาคนออกตามจำนวนทั้งหมดของสาขาที่ปิด เพราะสามารถหมุนเวียนตำแหน่งได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส