หน่วยงานอวกาศแห่งชาติของอิหร่านกล่าวว่าจะเปิดตัวดาวเทียมสำรวจดวงล่าสุดของประเทศที่ชื่อว่า Zafar ซึ่งได้เริ่มพัฒนาเมื่อสามปีก่อน และจะถูกปล่อยโดยจรวด Simorgh เหนือพื้นโลกในระยะ 329 ไมล์ (529.47 กม.) ที่ทำวงโครจร 15 รอบต่อวัน และมีเป้าหมายในการถ่ายจัดเก็บภาพเพื่อใช้ในการศึกษาภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเกษตร (แต่จะใช้ทางด้านการทหารด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่มีการเปิดเผย ขออย่าคิดกันไปไกล)

Morteza Berari หัวหน้าหน่วยงานอวกาศแห่งชาติของอิหร่านกล่าวว่าดาวเทียมถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติงานได้นานกว่า 18 เดือน อย่างไรก็ตามหน่วยงานอวกาศหวังว่าจะสร้างดาวเทียมอีก 5 ดวงก่อนเดือนมีนาคม 2021 แต่ที่แน่ ๆ ยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนว่าจะปล่อยดาวเทียมวันเวลาใด

บางประเทศในตะวันตกเคยแสดงความกังวลต่อโครงการดาวเทียมดวงก่อนหน้านี้ของอิหร่าน ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2019 การเปิดตัวดาวเทียม Payam ของกรุงเตหะราน ซึ่งออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ได้มีคำเตือนจากสหรัฐดักหน้าไว้ว่ามันเป็นการยั่วยุ

อย่างไรก็ตาม Berari หัวหน้าหน่วยงานอวกาศของอิหร่านกล่าวเพิ่มเติมว่าเป็นการใช้พื้นที่อวกาศอย่างสันติ และกล่าวเสริมว่ากิจกรรมทั้งหมดของเราในอาณาเขตบนอวกาศนั้นมีความโปร่งใส

ความบาดหมางระหว่างสหรัฐกับอิหร่านได้ปะะทุขึ้นอย่างดุเดือดในปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 เริ่มจาก 12 พ.ค. เรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำของซาอุดีอาระเบียพันธมิตรของสหรัฐถูกโจมตี ต่อมา 20 มิถุนายน อิหร่านยิงมิสไซล์สอยโดรนสอดแนม RQ-4 Global Hawk ของสหรัฐร่วงโดยให้เหตุผลว่าบินละเมิดน่านฟ้า ถัดมา 21 มิถุนายน ทรัมป์ได้สั่งยิงตอบโต้อิหร่านแต่กลับเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย และ 3 ม.ค. สหรัฐใช้โดรน Q-9 reaper ยิงสังหารนายพล Qassem Soleimani อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน

ดังนั้นตอนนี้อิหร่านออกมาประกาศว่าจะปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ ซึ่งแม้จะอธิบายว่าใช้อย่างสันติ แต่งานนี้เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามของอิหร่านก็คงไม่มั่นใจและคงจะมีความเคลื่อนไหวให้เราได้ติดตามกัน (ไม่อยากให้ทะเลาะกันอีก เวลานี้แค่ไวรัสโคโรนาก็เพียงพอแล้ว)

ที่มา : engadget

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส