Epson ประเทศไทย เผยว่า แม้สภาพตลาดไอทีโดยรวมจะหดตัวลง 5.5% เนื่องมาจากหลายปัจจัยรวมไปถึงวิกฤตล่าสุดอย่างการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่พวกเขายังมั่นใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ตลาด B2B จะยังคงไปได้ด้วยดี
Epson ประเทศไทย คาดการณ์ว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ทั้งหมดของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2561 แต่ยังคงสามารถยืนตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ตพรินเตอร์ B2B ของไทยได้ทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวนยูนิต ด้วยสัดส่วนการตลาด 38% และ 44% โดยช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปรับกลวิธีในการจำหน่าย โดยเพิ่มความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเข้าถึงองค์กรเอสเอ็มอีทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังโฟกัสในตลาด replacement โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนจากเลเซอร์พรินเตอร์และพรินเตอร์ที่ใช้ตลับหมึกมาใช้อิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เพื่อประหยัดต้นทุนการพิมพ์และค่าไฟ รวมถึงลูกค้าที่ต้องการเพิ่มจำนวนพรินเตอร์เอปสันในองค์กรเป็นหลัก
ในปีที่ผ่านมา อิงค์เจ็ต พรินเตอร์ความเร็วสูงสำหรับองค์กรธุรกิจอย่าง Epson WorkForce คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 79% เนื่องจากสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร รองลงมาคือกลุ่มพรินเตอร์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 10% (ได้แก่ พรินเตอร์ฉลากอุตสาหกรรม พรินเตอร์หน้ากว้างใช้ภายในองค์กร พรินเตอร์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และพรินเตอร์ป้ายโฆษณา) ในขณะที่กลุ่ม Epson EcoTank อิงค์เจ็ตพรินเตอร์รุ่นประหยัดเพื่อองค์กรธุรกิจทุกขนาด และกลุ่มดอตเมทริกซ์พรินเตอร์ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากยอดขาย ณ สิ้นปีงบประมาณนี้ ได้ไม่ต่างจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้น
กลยุทธ์ที่ Epson จะใช้ในการผ่านวิกฤตปัจจัน คือ ‘Double LEAD’ ที่ย่อมาจาก Low Total Cost of Ownership, Eco-friendly environment, Advanced performance และ Digital transformation ส่วน LEAD ที่ 2 คือกลยุทธ์การดำเนินงาน ผ่าน 4 กระบวนการเพื่อถ่ายทอดคุณค่าที่ได้กล่าวมาไปสู่ธุรกิจของลูกค้า ได้แก่ Launch, Educate, Assist และ Drive”
Epson ประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของประเทศไทยให้ได้ไว้อีกครั้ง พร้อมกับขยายฐานลูกค้าให้กว้างออกไปสู่กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ผ่านกลยุทธ์และคุณค่าของเอปสันที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของลูกค้าได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาสู่ภาวะปกติในไม่ช้า รวมถึงการอนุมัติการเบิกจ่ายของงบประมาณรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาทำงานอีกครั้ง การลงทุนในเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ขององค์กรธุรกิจก็จะเพิ่มมากขึ้น ตลาดไอทีก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส