SCB เปิดตัว Robinhood แพลตฟอร์ม Food delivery ใหม่ ชูจุดเด่นไม่เก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า เพื่อช่วยเหลือ SME ธุรกิจขนาดเล็กในช่วงวิกฤติ COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่ นักวิชาการก็ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากหมด COVID-19 ซึ่ง New Normal ที่จะเกิดขึ้นมีหลายอย่าง รวมถึงการใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ของคนไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยจุดแข็งของบริการ Robinhood มีดังต่อไปนี้
- ไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP
- การไม่เก็บค่าสมัครของร้านค้า
- การจ่ายเงินเข้าสู่บัญชีร้านค้าภายใน 1 ชั่วโมง
- เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ
โดย Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ โดยโครงการนี้ใช้ทีมงานราว 50 คนโดยไม่ได้ใช้ทีมใหม่มาทำ แต่ใช้ทีมงานเดิมจาก Purple Venture โดยใช้เวลาพัฒนาราว 3 เดือน ซึ่งการจัดส่งอาหารจะมีพาร์ตเนอร์เริ่มต้นเป็น Skootar โดยวางแผนว่าช่วงเปิดให้บริการจะมีร้านค้าให้บริการกว่า 20,000 ร้าน และตั้งเป้าพร้อมเปิดให้บริการปลายเดือนกรกฎาคม 2563
SCB ไม่ได้หวังโค่น Grab หรือ Get แต่การที่ SCB ไม่คิดค่าธรรมเนียมร้านค้าซักกะบาท ก็หวังว่าค่าธรรมเนียมของ 3-4 รายใหญ่ตอนนี้จะลดลงมาบ้างเพื่อช่วยรายย่อย
“แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท จากความต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน Robinhood จึงไม่ใช่เพียงแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤตที่เผชิญได้” นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวสรุป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส