เชื่อว่าหลายต่อหลายคนต่างติดตามข่าวคราวการหลอกลวงว่าตนเองเป็นพยาบาลเพื่อมาพบรักและยักยอกทรัพย์ ผ่านทางหน้าเพจต่าง ๆ และการนำเสนอข่าวผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์กันมาบ้างแล้ว โดยล่าสุด ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพยาบาลปลอมได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการ “โหนกระแส” ของคุณหนุ่ม กรรชัย โดยสารภาพยอมรับกลางรายการว่า “ไม่ได้เป็นพยาบาล”

ในส่วนของเรื่องราวดังกล่าวนี้ คงต้องให้ทางผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการกันต่อไป แต่สำหรับประชาชนคนทั่วไปอย่างเรา ๆ จะมีวิธีไหนบ้างที่สามารถตรวจสอบได้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เจอะเจอ (โดยเฉพาะแพทย์) จะในโรงพยาบาล คลินิก สถานประกอบการต่าง ๆ หรือแม้แต่ในโลกโซเชียล มีใครบ้างที่เป็นตัวจริง และใครบ้างที่เป็นตัวปลอม นอกเหนือจากการขอดูบัตรประจำตัวของผู้นั้น

ล่าสุดนี้ ทางแพทยสภาได้โพสต์แนะนำวิธีการขอตรวจสอบข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ด้วยตนเองผ่านหน้าเว็บของแพทยสภา (สามารถเข้าได้ผ่านลิงก์นี้)

โดยเมื่อเข้ามาแล้ว จะพบกับหน้าฟอร์มกรอกข้อมูลแบบง่าย ๆ ให้เรากรอกชื่อและนามสกุลของผู้ที่ต้องการตรวจสอบสถานะทางการแพทย์ลงไป จะตรวจสอบโดยใช้ชื่อภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษก็ได้ (ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์เป็นชาวต่างชาติ) และยังสามารถตรวจสอบโดยใช้เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้อีกด้วย โดยคลิกที่ปุ่มสีฟ้าใต้ช่องกรอกนามสกุล (จะกรอกหรือไม่กรอกก็ได้ แล้วแต่กรณี)

หน้าแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลตรวจสอบรายชื่อแพทย์

การค้นหานี้ มีข้อแนะนำอยู่ไม่กี่ข้อเท่านั้น กล่าวคือ ต้องสะกดชื่อและนามสกุลให้ถูกต้องทุกตัวอักษร, แพทย์ที่ต้องการตรวจสอบข้อมูล ต้องเป็นผู้ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น และแพทย์ผู้นั้นต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เมื่อครบองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว ข้อมูลที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลของแพทยสภาจะปรากฏขึ้นมา

ทีนี้มาทดลองค้นหาข้อมูลในระบบกันบ้างว่าจะแสดงอะไรออกมา ในที่นี้ ทีมงานได้ทดลองใช้ชื่อของ “นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” จิตแพทย์ชื่อดังและโฆษกศบค. มาทำการค้นหาเพื่อเป็นตัวอย่าง

จากหน้าค้นหาจะปรากฏว่า มีการแสดงชื่อทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในจุดถัดมา คือปีที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางแพทยสภาว่าได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมาตั้งแต่ปีใด ส่วนถัดมาคือสถานะความรู้ความชำนาญเฉพาะทางของผู้นั้น และปิดท้ายด้วยรูปภาพประกอบ ซึ่งภาพที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์นี้เป็นของแพทยสภา มีลิขสิทธิ์และลายน้ำปรากฏชัดเจน หากจะนำไปใช้ในการอื่นจะถือว่าผิดกฎหมายทันที และละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย

เท่าที่ทีมงานได้ลองเข้าใช้งานหน้าเว็บและลองจับเวลาคร่าว ๆ ใช้เวลาที่รวดเร็วมากสำหรับการค้นหาที่ต้องการ ถือว่าสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษากับแพทย์ที่ได้นัดหมายไว้ หรือแม้แต่ตรวจสอบสถานะว่าเป็นแพทย์จริงหรือแพทย์หลอก รวมไปถึงกรณีของ “หมอกระเป๋า” ที่จะแอบอ้างหรือไม่แอบอ้างก็ดี แล้วมาทำการรักษาง่าย ๆ ราคาถูก ๆ แต่สิ่งที่แลกกลับมาถือว่าได้ไม่คุ้มเสียเอาเสียเลย

ส่วนข้อจำกัดของการค้นหานี้มีอยู่สองอย่างก็คือ หากต้องการค้นหาด้วยเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถค้นหาได้ ต้องกอกชื่อและนามสกุลร่วมด้วย และยัง ไม่สามารถค้นหาหรือตรวจสอบสถานะบุคลกรทางการแพทย์ที่เป็นพยาบาล, เจ้าหน้าที่พยาบาล, นักเทคนิกการแพทย์ หรือแม้แต่เภสัชกรได้ ถ้าต้องการตรวจสอบบุคคลที่นอกเหนือจากการเป็นแพทย์ แนะนำว่าต้องขอข้อมูลหรือตรวจสอบกับทางสภาวิชาชีพของแต่ละสายงานนั้น ๆ แทน

สำหรับกรณีที่ค้นหาแล้วไม่ปรากฏขึ้นมา อาจมีหลายสาเหตุหลายประการ เช่น สะกดชื่อไม่ถูกต้อง, มีการเปลี่ยนชื่อ และ / หรือ เปลี่ยนนามสกุล แต่แพทย์ท่านนั้นยังไม่ได้ส่งเรื่องมายังแพทยสภาเพื่อขอปรับปรุงข้อมูล หากสะกดชื่อถูกต้องแล้วแต่ยังไม่ปรากฏขึ้นมา อาจมีสาเหตุย่อย ๆ ดังนี้

หน้าการแสดงผลในกรณีที่ไม่พบข้อมูลในฐานข้อมูลของแพทยสภา
  • บุคคลผู้นั้นไม่ใช่แพทย์ หรือเป็นแพทย์จริง แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตฯ จากทางแพทยสภา
  • ถูกสั่งให้พักการใช้ใบอนุญาตฯ
  • แพทย์ผู้นั้นได้เสียชีวิตแล้ว

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มจากทางแพทยสภา สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 0-2590 1887 หรือทางอีเมล [email protected] ในเวลาราชการ

อ้างอิง: แพทยสภา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส