มร. อิงมาร์ หวาง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลภาพรวมของธุรกิจและทิศทางการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง 2563 ในการสัมภาษณ์กลุ่ม
มร. อิงมาร์ หวาง เผยถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างวิถีชีวิตอัจฉริยะที่ไร้รอยต่อ (Seamless Smart AI Life) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์แบบด้วยการเชื่อมต่อเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ (ดีไวซ์) เข้ากับระบบซอฟต์แวร์ที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีขึ้นไปอีกขั้น ตามกลยุทธ์ 1+8+N
ทางหัวเว่ยอธิบายความหมายของกลยุทธ์ 1+8+N ไว้ว่า หมายเลข ” 1 ” หมายถึงสมาร์ตโฟน ที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับอื่น ๆ ส่วนสัญลักษณ์ ” + ” หมายถึงการเชื่อมต่อแบบไร้สาย สำหรับเลข ” 8 ” หมายถึงสมาร์ตดีไวซ์ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่
- คอมพิวเตอร์ (PC)
- แท็บเล็ต (Tablet)
- รถยนต์ (Telematics)
- หูฟัง (Earphones)
- นาฬิกา (Watch)
- แว่นตา (Glasses)
- ลำโพง (Speaker)
- หน้าจออัจฉริยะ (Vision)
ส่วน ” N ” จะหมายถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT แบบไร้ที่สิ้นสุด (Endless) ที่ครอบคลุม 5 ความต้องการในปัจจุบัน ได้แก่
- บ้านอัจฉริยะ (Smart Home)
- ออฟฟิศอัจฉริยะ (Smart Office)
- การเดินทางอัจฉริยะ (Smart Travel)
- สุขภาพและฟิตเนส (Fitness & Health)
- ความบันเทิง (Entertainment)
แต่สำหรับในประเทศไทยตอนนี้จะเป็น 1+5+N ก่อน เพราะยังมีสินค้าที่นำเข้ามาทำตลาดไม่ครบ คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะมีการนำเข้ามาจำหน่ายจนครบ 8 รายการ
ไม่เพียงแค่ด้าน Device Huawei ก็ยังพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ภายในอย่าง HMS (Huawei Mobile Service) ให้มีประสิทธิภาพ โดยการทำงานจะสอดคล้องกับด้านดีไวซ์ โดยใช้ความฉลาดของ AI เข้ามาช่วยผสานการทำงานระหว่างกัน
โดยการทำงานผ่านฟีเจอร์ที่เชื่อมต่อระหว่างระบบของหัวเว่ยกับดีไวซ์ HUAWEI Share ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ของหัวเว่ย สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างดีไวซ์และเชื่อมต่อเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานได้ เช่น การส่งไฟล์ ภาพ มัลติมิเดียต่าง ๆ หรือสามารถแชร์หน้าจอระหว่างอุปกรณ์ ได้ในสัมผัสเดียว ตามแท็กไลน์ ‘Together in Just One Tap’ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูล รหัสให้ยุ่งยาก
และยังมีความปลอดภัยในตัว ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อและสั่งงานได้หลากหลาย ทั้งการเชื่อมต่อผ่าน NFC การควบคุมการสั่งงานด้วยเสียงหรือท่าทาง การเชื่อมต่อบนระบบอีโคซิสเต็มของหัวเว่ย เพื่อความสะดวกของผู้ใช้
นอกจากนี้ยังมี HUAWEI Assistant บริการผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถจดจำเสียงของผู้ใช้และรับคำสั่งงานผ่านระบบเสียงได้ สแกน QR code แปลคำศัพท์หรือระบุสิ่งของได้ ผ่าน AI Vision เสิร์ชหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่าน AI Search พร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับคอนเทนต์ผ่าน AI Touch เป็นต้น
และในช่วงท้าย มร. อิงมาร์ หวาง ยังเผยข้อมูลอีกด้วยว่า Huawei AppGallery ใน HMS มีแอปพลิเคชันยอดนิยมในไทยเพิ่มขึ้นจนถึง 90% แล้ว (จากแอปฯ ทั้งหมด 200 รายการ) ทั้งด้านการเงิน ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว การเรียนรู้ หนังสือ สื่อบันเทิง ไลฟ์สไตล์ และอีกมากมาย
สำหรับภาพรวมยอดขายในตลาดโลก หัวเว่ยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มสินค้าสมาร์ตและสมาร์ตดีไวซ์อื่น ๆ โดยยอดขายสมาร์ตโฟนเพิ่มสูงขึ้น 34% รั้งอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนได้ 17.6% ของยอดขายสมาร์ตโฟนทั้งโลก ขณะที่ยอดนำส่งผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงกว่า 240 ล้านเครื่อง
หากเมื่อเทียบแบบปีต่อปี หัวเว่ยเติบโตสูงถึง 16.8% ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป (PC) มียอดนำส่งผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 200% ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสวมใส่ (wearables) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 170% และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหูฟังไร้สาย (wireless audio) เติบโตมากกว่า 200%
จากอัตราการเติบโตในแง่ของยอดการสั่งซื้อและนำส่งผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มสมาร์ตโฟนและสมาร์ตดีไวซ์ต่าง ๆ ของแบรนด์เมื่อรวมกับภาพรวมการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีอัจฉริยะและอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงสร้างอีโคซิสเต็มอัจฉริยะของตนเอง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างอุปกรณ์ได้อย่างลื่นไหล
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส