แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ลูกค้าของ ดีแทค แต่หากมีโอกาสแวะเวียนหรือเดินผ่านไปที่ ดีแทค ฮอลล์ ไม่ว่าสาขาใดก็ตาม ก็อาจจะได้พบเห็นถังสีฟ้าที่เขียนว่า ‘ทิ้งให้ดี’ โดยถังนี้คือจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคนำมาตั้งไว้เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าและบุคคลทั่วไป ได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องต่อไป

ทำไมต้อง ‘ทิ้งให้ดี ทิ้งที่ดีแทค’

ผลการสำรวจพฤติกรรมการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไม่ใช้งานแล้วของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่า กว่าร้อยละ 50% ของผู้ใช้งานจะเลือกขายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผู้รับซื้อของเก่า หรือ รถขายของเก่า ซึ่งมักจะนำขยะไปแยกชิ้นส่วน โดยจะเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเพื่อนำไปขายต่อได้ และจะกำจัดซากขยะที่เหลือด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ปัญหาสำคัญ คือ การทิ้งซากผลิตภัณฑ์ปะปนกับขยะทั่วไป และการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ

ทิ้งให้ดี
ลูกค้าดีแทคที่นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง เมื่อลงทะเบียนก่อนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วยนะ
ติดตามรายละเอียดได้ที่ดีแทคฮออล์เลย

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทค ‘ทิ้งให้ดี’ ต้องการเป็นทางออกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ให้สามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทมือถือและอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานไม่ได้แล้วอย่างอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อเพื่อนร่วมโลก และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม เป็นผู้จัดจำหน่ายมือถือหลายแสนเครื่องต่อปี เราจึงมุ่งมั่นนำขยะมือถือจากผู้ใช้งาน ซึ่งคิดเป็น 19% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีแทคเก็บได้ เข้าสู่กระบวนการการรีไซเคิล และไม่มีเศษขยะที่เหลือไปฝังกลบ (ZERO Landfill) ซึ่งเราทำได้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน
บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

นอกจากนี้ ดีแทคยังเดินหน้าจัดกระบวนการควบคุมเพื่อนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของดีแทคเองโดยไม่ใช้วิธีฝังกลบเลย (ZERO Landfill) ภายในปี พ.ศ.2565 ตามนโยบายด้านการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ หรือ Environment Management System and Climate ตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ดีแทค”

ZERO Landfill จะสำเร็จได้ ย่อมต้องมีกระบวนการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้อง ทางดีแทคจึงได้จัดหาบริษัทรีไซเคิลตามนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการ ด้วยการประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งดีแทคมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Sustainability Management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

โดยบริษัทที่ได้รับเลือกจากดีแทคคือ เทส (TES) ซึ่งหากนับเวลาถึงตอนนี้ เทสได้ทำงานร่วมกับดีแทคมาแล้ว 8 ปี

เมื่อเทสรับซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จากโครงการ ‘ทิ้งให้ดี’ มาถึงยังโรงงานแล้ว เทสจะทำการตรวจนับและชั่งน้ำหนัก เพื่อรายงานจำนวน น้ำหนัก และสถานที่รับ เพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บและทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลัก ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์ตแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบงก์ เป็นต้น เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก เช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ ทองแดง พาราเดียม เหล็ก อลูมิเนียม ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้ สามารถนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง และช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมทั้งไม่ทิ้งเศษซากขยะเป็นขยะฝังกลบเลย หรือ Zero Landfill ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555