วันนี้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ปล่อยคำศัพท์บัญญัติใหม่ทางด้านเทคโนโลยีและนิเทศศาสตร์ มาดูกันดีกว่าว่ามีคำว่าอะไรบ้าง จะคุ้น หรือจะแปลกตาขนาดไหน
TED Talk : การพูดแบบเท็ด
วิธีการพูดที่เต็มไปด้วยพลังโดยนักพูดผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่สังคมสนใจ สามารถตรึงความสนใจของผู้ฟังได้ ความยาวไม่ควรเกินกว่า ๑๘ นาที
TED ย่อมาจากคำว่า Technology, Entertainment, Design ซึ่งเป็นประเด็นในการพูดในระยะแรก ก่อกำเนิดมาจากการประชุมเท็ด (TED Conference) ที่สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๘๔ มีคำขวัญว่า ความคิดดี ๆ มีค่าคู่ควรในการเผยแพร่ (Ideas worth spreading)
Hashtag : ดัชนีถ้อยคำ, แฮชแท็ก
กลุ่มคำที่มีเครื่องหมาย # นำหน้า เป็นรูปแบบหนึ่งของสัญลักษณ์ที่ผู้ใช้สื่อสังคมสร้างและนำเข้าสู่ระบบ
ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดกลุ่มข้อมูลสารสนเทศขนาดใหญ่เหล่านั้น โดยจำแนกตามหัวข้อ ทำให้ผู้ใช้ทราบว่ามีคนสนใจหรือพูดถึงเรื่องราวอะไรบ้างในหัวข้อนั้น ๆ และค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
Echo Chamber : ห้องเสียงสะท้อน
พื้นที่การสื่อสารที่ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือข้อมูลชุดหนึ่ง ๆ ถูกแพร่กระจายและตอกย้ำผ่านการสื่อสารซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มคนที่มักแบ่งปันความคิดในลักษณะเดียวกันในระบบปิดที่ไม่ปล่อยให้มีการไหลเวียนของความคิดทางเลือกอื่นหรือแนวคิดที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่นี้ได้ยินและรับรู้เฉพาะข้อมูลในรูปแบบเดียวหรือความคิดเห็น ความเชื่อที่ตรงกับของตน
Cyberculture : วัฒนธรรมไซเบอร์
วิถีการใช้ชีวิตของกลุ่มคน สื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น ห้องสนทนาออนไลน์ เว็บไซต์ (website) เกิดขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดการดำเนินชีวิตที่มีเทคโนโลยีเป็นกลไกในการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่เรียกว่า โลกไซเบอร์ เป็นพื้นที่ปะทะทางวัฒนธรรมของปัจเจกทั่วโลกเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน โลกไร้พรมแดนทางสังคมและชาติพันธุ์ แบ่งแยกด้วยความสนใจที่ตรงกันโดยไม่ได้มีอาณาเขตทางกายภาพ นอกจากนั้น วัฒนธรรมไซเบอร์ยังหมายถึง วัฒนธรรมที่พัฒนามาจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมสมัย
Content Seeding : การหว่านเพาะเนื้อหา
กลวิธีการบ่มเพาะและเผยแพร่ข่าวสารในการสื่อสารการตลาดออนไลน์ โดยส่งเนื้อหาข่าวสารกระจายผ่านช่องทางสื่อหลากหลายที่เจาะเข้าถึงผู้คนเฉพาะกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลองใช้สินค้าหรือบริการ หรือสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างรวดเร็ว
Meme : มีม
ความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญา และวรรคทองต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำมาเลียนแบบ ดัดแปลง สร้างเสริม และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อาจเป็นแนวตลกในลักษณะของข้อความ การ์ตูน สัญลักษณ์ คลิปวีดิทัศน์ แอนิเมชัน (animation) ฯลฯ
Crisis Communication : การสื่อสารภาวะวิกฤติ
การสื่อสารเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ภาพลักษณ์ หรือชื่อเสียงขององค์กร บุคคล อย่างรุนแรง โดยมีแผนกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการสื่อสารแก้ปัญหากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องตามบริบท
Podcasting : พ็อดคาสติง
การจัดเตรียมข้อมูลภาพและเสียง เพื่ออัปโหลด (upload) บนอินเทอร์เน็ต สำหรับบริการแก่สมาชิกผ่านอุปกรณ์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ตามความต้องการส่วนบุคคล
Film Festival : เทศกาลภาพยนตร์
เทศกาลที่มีการฉายภาพยนตร์หลายเรื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันในสถานที่เดียวกัน เพื่อมอบรางวัลสาขาต่าง ๆ และเผยแพร่ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ และอาจนำภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่มาฉายเพื่อเน้นย้ำความสำเร็จด้านต่าง ๆ ของภาพยนตร์เหล่านั้น เช่น เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
Video Assistant Referee (VAR) : ผู้ช่วยผู้ตัดสินใช้วีดิทัศน์ (วีเออาร์)
ผู้ช่วยผู้ตัดสินในกีฬาฟุตบอลที่ช่วยออกความคิดเห็นให้แก่ผู้ตัดสินในสนาม โดยใช้ภาพวีดิทัศน์ที่ถ่ายไว้ตลอดเวลา และใช้ชุดรับ-ส่งวิทยุแบบเสียบหูเพื่อติดต่อกับผู้ตัดสินในสนาม
Fluorography : การถ่ายภาพจอวาวแสง
- การถ่ายภาพวัตถุที่มองเห็นได้บนจอวาวแสง เมื่อฉายด้วยรังสีเอกซ์ หรือรังสีคลื่นสั้นอื่น ๆ
- วิชาการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพบนจอวาวแสง
Fluoroscopy : ฟลูออโรสโกปี
กระบวนการแปลงภาพรังสีเอกซ์ที่ตามองไม่เห็นไปเป็นภาพที่ตามองเห็นได้บนจอวาวแสง เพื่อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยโรค
Game Engine : เกมเอนจิน
คลังซอฟต์แวร์ที่จำเป็นแก่การพัฒนาเกมวีดิทัศน์ ที่อาจใช้ร่วมกับคอนโซล อุปกรณ์พกพา คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
Goovie : เกมภาพยนตร์เชิงโต้ตอบ
เกมเอนจินที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ สำหรับเกมที่ใช้ภาพยนตร์ในรูปแบบของวีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ เมื่อซีดีรอมเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จัก
Grabber : อุปกรณ์ดึงภาพ/เสียงมาใช้
อุปกรณ์ที่ใช้ดึงคลิปภาพหรือคลิปเสียงจากภาพนิ่ง ภาพยนตร์ หรือวีดิทัศน์ที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้
Online Photography : การถ่ายภาพออนไลน์
- การถ่ายภาพผ่านเครือข่ายสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต
- การถ่ายภาพโดยใช้กล้องดิจิทัล และนำขึ้นสู่เครือข่ายสื่อสารเพื่อความรวดเร็วฉับไว
Grading : การปรับระดับแสงสี
กระบวนการปรับแก้ค่าความดำและค่าสีของภาพยนตร์ จากช็อตหนึ่งไปยังอีก ช็อตหนึ่ง หรือจากฉากหนึ่งไปยังอีกฉากหนึ่งระหว่างการพิมพ์ฟิล์ม เพื่อให้สีสม่ำเสมอและได้ดุล หรือได้ผลพิเศษอย่างอื่น
Guillotine Shutter : ชัตเตอร์กิโยตีน
ชัตเตอร์อย่างง่ายที่ทำงานคล้ายกิโยตีนโดยใช้บานเลื่อนที่มีช่องเปิดรับแสงในตัว และปิดเปิดประตูรับแสงโดยการเคลื่อนบานเลื่อนผ่านช่องรับแสงในทิศทางเดียว ถ้าช่องเปิดของบานเลื่อนตรงกับประตูก็จะมีแสงผ่านได้ แต่ถ้าช่องเปิดของบานเลื่อนไม่ตรงกับประตูก็จะไม่มีแสงผ่าน
อ้างอิง : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส