กรมสรรพากรร่วมกับ 11 ธนาคาร เปิดตัวระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Withholding Tax ในวันนี้ (27 ตุลาคม 2563) โดยระบบนี้จะช่วยลดภาระในการจัดทำและยื่นแบบรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ลดต้นทุนในการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อีกทั้งยังได้รับสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

e-Withholding Tax คืออะไร

ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Withholding Tax เป็นระบบที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้น โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่ผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบแสดงรายการและนำส่ง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้กรมสรรพากร และจัดทำเอกสารหลักฐานหนังสือรับรองให้ผู้รับเงินเอง เปลี่ยนมาเป็นการให้สถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวกลางดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน โดยสามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลได้ ซึ่งระบบนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563

ระบบนี้ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ ผู้จ่ายเงิน, ธนาคารผู้ให้บริการระบบ, ผู้รับเงิน (ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย) และกรมสรรพากร โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงิน แล้วนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากร ภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้นกรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน

กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบหลักฐาน หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนหรือไม่

ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนใช้งานระบบ e-Withholding Tax กับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง โดยปัจจุบันมี 11 ธนาคาร ได้แก่

  1. ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  2. ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  3. ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  4. ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  5. ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขา กรุงเทพฯ
  6. ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  7. ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
  9. ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
  10. ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  11. ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 14-15 แห่ง

“ผู้เสียภาษี คือ ผู้ให้ภาษี” ทุกอย่างจึงต้องง่าย

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในระบบภาษีที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้น ในเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดการภาษีเป็นเรื่องง่าย

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

โดยปัจจุบัน กรมสรรพากรมองว่า ผู้เสียภาษี คือ ‘ผู้ให้ภาษี’ เป็นลูกค้าที่ต้องดูแล การบริการต่าง ๆ จึงต้องง่ายและสะดวกสบาย เข้าใจไม่ยาก ผ่านแนวคิด ‘5 ลด’ คือ

  1. ลดขั้นตอน การยื่นแบบภาษี ทำให้ผู้ประกอบการสะดวกสบายมากขึ้น
  2. ลดต้นทุน ในการจัดการกับเอกสาร ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่ผู้ประกอบการและกรมสรรพากรต้องแบกรับ
  3. ลดภาษี ระบบ e-Withholding Tax เป็นภาคสมัครใจ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ระบบเดิมก็ได้ ซึ่งจุดนี้ กรมสรรพากรมอบสิทธิ์ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นแรงจูงใจในการใช้งาน
  4. ลดความยุ่งยาก ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องยื่นแบบทุก ๆ เดือน เนื่องจากธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยตรง อีกทั้งไม่ต้องเก็บเอกสารข้ามปี เพื่อยื่นในปีภาษีนั้น ๆ อีกด้วย
  5. ลดการตรวจสอบ ผู้ประกอบการ (ผู้จ่ายเงิน) และผู้รับเงิน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หากมีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ถูกต้อง ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบและเสียค่าปรับต่อกรมสรรพากร

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถลงทะเบียนใช้งานระบบ e-Withholding Tax กับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ และศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส