อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ได้รับเลือกเป็นเมืองต้นแบบแห่งแรกของไทยในการใช้ 5G อัจฉริยะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น อาทิการสร้างชุมชนปลอดภัย, ดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน, บริการด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชน
นี่คือหน้าตาของเสาสมาร์ตโพล ที่จะเป็นตัวรับสัญญาณ 5G โดยมีลักษณะเป็นเสาที่สามารถมอนิเตอร์เกี่ยวกับการจราจรในพื้นที่, ตรวจสอบคุณภาพอากาศ รวมไปถึงช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย AI ตรวจจับใบหน้า, รวมถึงปุ่ม S.O.S ที่สามารถกดแล้วจะวิดีโอคอลคุยกับเจ้าหน้าที่ได้แบบเรียลไทม์
เมืองอัจฉริยะ (Smart city) คือรูปแบบของเมืองแห่งอนาคต ที่ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชน ชุมชน กับระบบงานบริการของทางภาครัฐ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
หัวใจของการเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่สมบูรณ์แบบนั้น ประกอบไปด้วยการรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยี (Internet of Things-IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดายและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มาใช้ควบคู่กับการเก็บฐานข้อมูลโครงสร้างประชากรและข้อมูลทางภูมิศาสตร์จำนวนมหาศาล และนำมาวิเคราะห์ แบบบูรณาการ ต่อยอดในการพัฒนานโยบายต่างๆของทางภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเทคโนโลยี 5G ที่มีระบบการประมวลผล และความเร็วในการเชื่อมต่อที่แรงกว่า 4G ถึง 100 เท่า ทั้งยังสามารถสร้างศูนย์รวมข้อมูล (Data center) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงสุด และสร้างแพลตฟอร์มแสดงผล ให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา สกพอ. และ NT ได้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อทดสอบระบบเสาอัจฉริยะ 5G ( 5G Smart pole ) โดยสามารถ ใช้งานได้มากกว่า 10 ฟังก์ชัน เช่น ระบบการตรวจจับระดับสารพิษในอากาศและค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เทศบาลตำบล บ้านฉาง ตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวังและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที
ในด้านความปลอดภัย หากประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีเสาสมาร์ตโพล 5G เกิดอุบัติเหตุหรือประสบอันตรายรวมถึงภัยที่เกิดจากรถชน ประชาชนสามารถกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ( SOS ) จากเสาสมาร์ตโพล 5G ใกล้ตัวหรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชันเมืองได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากกล้องวงจรปิดที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถสังเกตการณ์รวมถึงการวิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอาชญากรหรือตรวจสอบคนหาย โดยโครงการนำสัญญาณ 5G มาประยุกต์ใช้ในการโอนถ่ายและเชื่อมข้อมูลกับภาครัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูล ได้แบบเรียลไทม์ (RealTime) และช่วยเหลือได้ทันเวลา
นอกจากนี้ยังสามารถดูแลและรักษาความปลอดภัย โดยการนำโดรน 5G ไร้คนขับทำหน้าที่บินสำรวจบริเวณ หาดและท่าเรือ หาเรือจอดซ้อน เพื่อตรวจสอบคนลอบเข้าเมือง และการเดินเรือที่ผิดกฎหมาย หรือแม้แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทะเล
ดร. ณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2 จากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า เทศบาลตำบลบ้านฉางถือเป็นการนำร่องเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการมากที่สุด ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนและประชาชนสามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้อย่างสูงสุด
โดยได้นำเทคโนโลยี 5G Core ของ Mavenir Systems Limited พร้อมได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน)บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีชั้นนำ จากทั่วโลกและหลากหลายเพื่อออกแบบ 5G โซลูชั่นส์ที่ตอบโจทย์ระบบการบริหารจัดการเมืองใช้งานของเมือง
โดยคลื่น 5G ปกติแล้วจะแบ่งใหญ่ ๆ เป็น 3 ระดับคือ Low, Mid, High Band ซึ่งสัญญาณที่ใช้กับบ้านฉางนั้นเป็นคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ซึ่งถือเป็นความถี่ระดับ High Band หรือคุณภาพสูงนั่นเอง
เหตุผลที่เลือกบ้านฉางในการเป็นเมืองต้นแบบเนื่องจากทางอำเภอเมืองบ้านฉางได้ทำโครงการเมืองอัจฉริยะไว้นานแล้ว เคยเอาไปประกวดกับ ปตท. แล้วได้รางวัลด้วย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความพร้อมของบ้านฉาง และในอนาคต หากโครงการบ้านฉางเมืองต้นแบบ 5G อัจฉริยะออกมาเป็นที่น่าพอใจ จะมีการขยายผลไปสู่เมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป
เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 7 หรือ มอเตอร์เวย์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกของประเทศไทยเนื่องจากมีศักยภาพเพียงพอในการเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
ซึ่งในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงในย่าน ASEAN5 ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญ อย่างมากในการพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่อยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ยกระดับให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลและการแพทย์ การบิน และโลจิสติกส์ โดยใช้ระบบอัจฉริยะครบวงจรด้วยเทคโนโลยี 5G
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส