ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนมีความพยายามในการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ด้วยการอ้างอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตรา เพื่อให้มูลค่ามีความผันผวนน้อยลง ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซีประเภทดังกล่าวเรียกว่า ‘Stablecoin’

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า Stablecoin นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. ประเภท Fiat-Backed (อ้างอิงมูลค่ากับเงินตรา)
  2. ประเภท Asset-Backed (อ้างอิงมูลค่ากับสินทรัพย์)
  3. ประเภท Algorithmic (อ้างอิงมูลค่ากับ Smart contract)

สำหรับ Stablecoin ประเภท Algorithmic ซึ่งเป็นชนิดใหม่นี้ ได้ประยุกต์ใช้กลไกสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ในการเทียบมูลค่าให้เท่ากับสกุลเงินตราต่าง ๆ โดยการอ้างอิงมูลค่าเช่นนี้ ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ในเรื่องของความน่าเชื่อถือ

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีกระแสข่าวการออก Stablecoin ชื่อ THT บน Terra Platform ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบุให้ 1 หน่วยของมูลค่า THT เป็น 1 บาท จากลักษณะของ THT อาจทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ ทาง ธปท. จึงมีแนวนโยบายกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin แต่ละประเภท ดังนี้

1. Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin)

เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่พยายามลดความผันผวนโดยผูกมูลค่ากับเงินบาท และนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ซึ่งอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ ธปท. กำกับดูแลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการชำระราคา ด้านการฟอกเงิน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ 

ทั้งนี้ นโยบายการกำกับดูแล Stablecoin ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น เป็นต้น 

2. Stablecoin ประเภทอื่น ๆ

ได้แก่ ประเภทที่มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง (FX-backed Stablecoin) หรือมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่น ๆ หนุนหลัง (Asset-backed Stablecoin) หรือประเภทที่ใช้กลไกอื่น ๆ เพื่อประมวลผลให้สามารถคงมูลค่าได้แม้ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Algorithmic Stablecoin) ที่มิได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่ง ธปท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมภายในปีนี้

การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลระดับประชาชน

ภายในงาน Media Briefing ของ ธปท. ครั้งนี้ ยังมีความคืบหน้าของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลระดับประชาชน หรือ Retail Central Bank Digital Currency (Retail CBDC) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความปลอดภัย ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการได้ โดยโครงการดังกล่าวคือการต่อยอดมาจากโครงการอินทนนท์ (Wholesale Central Bank Digital Currency)

ภาพประกอบ : vwalakte / freepik

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส