สายชอปทั้งหลายต้องเตรียมตัว! ล่าสุดกรมศุลกากรประกาศให้เก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มจากพัสดุที่มาจากต่างประเทศ ถึงแม้ราคาจะต่ำกว่า 1,500 บาทก็ตาม ซึ่งเดิมทีกรมศุลกากรได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับสินค้าที่มีการส่งพัสดุทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ที่ราคาไม่เกินชิ้นละ 1,500 บาท แต่เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้กับ SME ไทยจึงได้กำหนดมาตรการนี้ขึ้น เพราะที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตจาก SME ไทย จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่สินค้าที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ หากราคาไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า “กรมศุลกากรกำลังศึกษาว่ามีช่องทางใดที่ทำได้บ้าง ในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีการส่งทางพัสดุมาจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ต้องไม่ให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเบื้องต้นอาจใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือใช้กฎหมายภายในประเทศ เช่น กฎหมายกรมสรรพากร หรือกฎหมายสรรสามิตมาใช้”
ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนพัสดุที่มีการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านกล่องต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 24 ล้านกล่อง ที่มีมูลค่าสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งหากมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ของกรมฯ ต่อปีที่เกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ประเด็นหลัก ๆ ในการใช้มาตรการนี้คือต้องการช่วยเหลือ SME ไทย เนื่องจากปัจจุบันคนไทยสั่งสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมากขึ้น เพราะมีราคาถูก และไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ร้านค้าปลีก และร้านขายส่งในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนต้องล้มเลิกธุรกิจกันไปหลายราย
นอกจากนี้การพิจารณาแนวทางเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์จากต่างประเทศที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท จะช่วยให้รัฐบาลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี ลดการรั่วไหล และปัญหาการทุจริตได้ด้วย เพราะพบว่าผู้ซื้อบางคนมักอาศัยช่องโหว่จากการยกเว้นการเก็บภาษีที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาทด้วยการแสดงราคาสินค้าที่เป็นเท็จมาใช้ในการหลบเลี่ยงภาษี
อ้างอิง มติชน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส