ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน โทรศัพท์มือถือไม่ได้หน้าตาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมบาง ๆ ด้านหน้ามีแต่จอเหมือนกันหมดอย่างทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือเริ่มมีผู้ใช้งานในช่วงปลายยุค 90s แต่เริ่มมาแพร่หลายในต้นยุค 2000s ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งราคาที่ลดลง ตัวเลือกที่มากขึ้น เทคโนโลยี 3G รวมทั้ง ‘ดีไซน์’ ที่แข่งขันกันสร้างความแปลกใหม่ จนอาจลืมคำนึงถึงการใช้งาน #beartai หยิบโทรศัพท์มือถือ 10 รุ่นในอดีตที่เห็นการออกแบบแล้ว อยากตะโกนถามว่า “ทำเพื่อ?”
Toshiba G450
นี่ไม่ใช่รีโมตแอร์ หรือรีโมตทีวีบนเครื่องบิน!!! โตชิบาก็เคยออกโทรศัพท์มือถือกับเขาด้วย รุ่นนี้คือ G450 ที่ออกแบบให้มีวงกลม 3 วง วงกลมบนสุดคือหน้าจอที่เล็กจิ๋วแค่ 96 x 39 พิกเซล ส่วนปุ่มกดถูกแยกกระจายออกอยู่ใน 2 วงกลมล่าง! กฏการพิมพ์แบบ QWERTY หรือ T9 ได้พังทลายจบสิ้น! ข้อดีอย่างเดียวของมันคือแปลงร่างเป็นเครื่องเล่น MP3 และยูเอสบีโมเด็มได้ แต่เห็นหน้าตาของมันแล้ว เราขอบายดีกว่า
Telson TWC 1150
เราไม่ได้พูดเล่น และนี่ไม่ใช่พรอปจากหนัง Terminator นี่คือโทรศัพท์มือถือที่คุณสามารถสวมบนข้อมือได้ (อื้อหือ!) มีหน้าจอสีขนาด 128 x 112 พิกเซล มีแป้นบังคับด้านบน แต่ปุ่มกดเล็ก ๆ ไปอยู่บนสายรัดด้านข้าง จินตนาการดูสิว่ากว่าคุณจะกดได้แต่ละปุ่มมันวุ่นวายแค่ไหน อีกฝั่งก็มีเสาอากาศทู่ ๆ ยังไม่รวมถึงท่าทางการคุยโทรศัพท์ที่น่าจะออกมาพิลึกพิลั่น เราแค่แปลกใจที่ไม่มีปุ่มยิงศัตรูแบบโรโบคอป
Sierra Wireless Voq
Sierra Wireless เป็นบริษัทโทรคมนาคมของแคนาดา เมื่อตอนเปิดตัวเจ้า Voq ก็โปรโมตว่าเป็นการรวมร่างของโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับส่งข้อความ และ PDA (Personal Digital Assistant) ไว้ด้วยกัน ผลที่ออกมาคือ “ไม่เป็นอะไรที่ดีสักอย่าง” ทั้งตัวเครื่องที่รูปทรงประหลาดจับไม่ถนัดมือ และการออกแบบฝาพับให้เป็นแป้นคีย์บอร์ด QWERTY เพื่อตั้งใจให้พิมพ์ได้ถนัดแบบสองมือ แต่เอาเข้าจริง มันไม่ถนัดเอาซะเลย
Siemens Xelibri 2
คนออกแบบน่าจะได้แรงบันดาลใจจากเกมทามาก็อตจิ ด้วยขนาดเครื่องที่เล็กเท่าอุ้งมือ ทำให้หน้าจอเล็กเพียง 101 x 65 พิกเซล แต่ที่เป็นฝันร้ายคือแป้นพิมพ์กลมขนาดจิ๋วที่กระจายอยู่ด้านซ้ายและขวา ประกอบกับรูปทรงเครื่องที่โค้งมน ทำให้การใช้งานลำบากลำบนยิ่งนัก นี่เป็นตัวที่สองในคอลเล็กชัน Xelibri ที่ออกแบบมาได้น่าเกลียดน่ากลัวพอกันทุกตัว
Siemens Xelibri 6
โทรศัพท์มือถือฝาพับทรงกลมที่ตั้งใจออกแบบเพื่อสุภาพสตรี โดยให้มีลักษณะเหมือนตลับแป้งพับ มีกระจกเงาเป็นพื้นผิวทั้งส่วนล่างและส่วนบน เพื่อให้คุณผู้หญิงได้ใช้เป็นกระจกพกพาจริง ๆ ไอเดียก็ฟังดูดีนะ แต่… ใช้ยากไปไหม? ด้วยหน้าจอที่เล็กจิ๋วแค่ 101 x 80 พิกเซล แล้วดูปุ่มกดที่อยู่รอบวงกลมนั่นสิ กดหมายเลขโทรศัพท์ว่ายากแล้ว ถ้าพิมพ์ข้อความ SMS คงปวดหัวยิ่งกว่า
Nokia 7600
โทรศัพท์มือถือใบไม้ในตำนานที่มาพร้อมกล้องถ่ายรูปและเป็นมือถือเครื่องที่ 2 ของ Nokia ที่ใช้ระบบ 3G ต่อจาก Nokia 6650 เราไม่ปฏิเสธนะว่ารูปร่างหน้าตามันก็แปลกตาชวน “ว้าว” ได้เหมือนกัน แต่มันใช้ยากมาก! การพิมพ์ส่งข้อความแต่ละครั้งต้องใช้สองมือพร้อมกัน ประกอบกับรูปทรงที่มีความโค้งมนและขนาดที่เล็กแค่ 8.7×7.8 เซนติเมตร ก็ล้วนแต่ส่งผลให้จับพิมพ์ได้ไม่ถนัดมือ
Nokia 7280
มันคืออะไร ลิปสติกหรือแฟลชไดรฟ์? เราไม่แน่ใจจริง ๆ ว่า Nokia ออกแบบมือถือเครื่องนี้มาเพื่อผู้หญิงหรือหนัง Star Trek เพราะมันดูแฟชั่นด้วยสีดำแดง หน้าจอขนาด 208 x 104 พิกเซล สามารถเป็นกระจกเงาส่องหน้าได้ ที่เก๋คือมีป้าย Nokia ที่ทำจากผ้าติดมาประหนึ่งเสื้อ ที่สำคัญคือไม่มีปุ่มกด แต่ใช้วงล้อยางหมุนบังคับปุ่มบนหน้าจอแทน ซึ่งไม่ต้องคิดเลยว่ากว่าจะพิมพ์ได้แต่ละตัวอักษรหรือเลือกเมนูแต่ละอย่าง มันยากเย็นแค่ไหน
Motorola V.Box (V100)
อย่าไปเผลอวางสลับกับเครื่องคิดเลขของเล่นเชียวล่ะ นี่คือโทรศัพท์มือถือฝาพับของโมโตโรลา ที่แม้จะตั้งใจออกแบบเป็นแนวนอนและทำคีย์บอร์ดแบบ QWERTY เพื่อง่ายต่อการพิมพ์ แต่การออกแบบส่วนอื่น ๆ ที่เหลือคือพัง โดยเฉพาะตัวเครื่องที่หนาเทอะทะถึง 2.5 เซนติเมตร และตั้งใจทำเป็นสีน้ำเงินขุ่นที่สามารถมองเห็นส่วนประกอบด้านในได้ (เพื่อ?) ที่สำคัญคือจะคุยโทรศัพท์แต่ละทีต้องเสียบหูฟัง ไม่มีหูฟังก็คุยไม่ได้ จบ
Motorola StarTAC Rainbow
ช่วงปลายยุค 90s มันอาจจะดูคูลเหมือนออกมาจากหนังวัยรุ่นไซไฟ แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว มันไม่ต่างอะไรกับของเล่นเด็กของลูกคุณ ข้อดีของมันคือฝาพับออกแบบมาได้เปิดปิดสะดวก (ซึ่ง Motorola ได้นำไปพัฒนาดีไซน์ให้เป็นรุ่น RAZR ในเวลาต่อมา) หน้ากากสีแดงด้านบนเหมือนจะเปิดได้ แต่เปล่า มันคือแบตเตอรี ส่วนด้านในเมื่อเปิดฝาพับขึ้น จะพบกับตัวเครื่องสีเหลืองจ้าและปุ่มกดที่มีเสียงเหมือนวอล์กกีทอล์กกีของเล่น
Haier P7
หลายคนไม่รู้ว่าแบรนด์ Haier ก็ผลิตโทรศัพท์มือถือ และรุ่น P7 นี้ Haier พยายามจะแหวกแนวด้วยดีไซน์ที่ผอมเพรียวยาวเหมือนปากกาที่เป็นอาวุธลับของเจมส์ บอนด์ หรือแท่งลบความจำใน Men in Black แต่ผลที่ออกมามันใช้งานยากสิ้นดี ด้วยหน้าจอที่เล็กจิ๋วแค่ 64 x 128 พิกเซล แถมยังผอมสูง แทบจะอ่านอะไรไม่เห็น แล้วดูการออกแบบปุ่มกดที่เอียงนั่นสิ ยุ่งยากเข้าไปอีก ข้อดีอย่างเดียวของมันคือคุยต่อเนื่องได้นาน 3 ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส