รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมาย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เร่งกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นทั่วไทย ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลโซลูชัน แก้ไขปัญหาและบริหารจัดการธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เตรียมพร้อมสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ และรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นำร่อง 4 จังหวัดภาคกลาง พร้อมตั้งเป้าขยายผลความสำเร็จสู่ 300 ชุมชนทั่วประเทศ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้โดยง่าย และสะดวกต่อการใช้งานของประชาชนฐานราก พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เร่งกระจายความเจริญสู่ชุมชนในชนบท ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัปที่เชื่อถือได้ นำร่องด้วยการบูรณาการการทำงานกับ 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วยจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
“ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายผลการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในชนบทเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการธุรกิจ ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย ดูแลผลผลิต คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เตรียมพร้อมสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ หลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลาย ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่ 300 ชุมชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ดีป้า ยังได้ผลักดันโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ จากทั่วประเทศไปแล้วกว่า 900 โครงการ เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้านบาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ขณะที่ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี ดีป้า อนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับชุมชนในชนบทในพื้นที่ภาคกลางไปแล้ว 22 ชุมชน และมีแผนที่จะขยายผลสู่จังหวัดอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมตั้งเป้าผลักดันให้ชุมชนทั่วประเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น 65 ชุมชนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว่า 115 ล้านบาท
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนคิดและเลือกสรรเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ทั้งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อการเกษตรและปศุสัตว์อัจฉริยะ เทคโนโลยี IoT ในกระบวนการแปรรูปผลผลิต โดรนเพื่อการเกษตร ดิจิทัลแพลตฟอร์ม/แอปพลิเคชัน ฯลฯ ก่อนนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้คนไทย ‘think faster and live better’ ปูทางสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อความอยู่ดีมีสุขแก่ภาคประชาชน รองรับการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว