เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้จัดงานสัมนาเชิงวิชาการ “60 ปีโทรทัศน์ไทย จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล” ณ วังบางขุนพรหม ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวต้อนรับ และกล่าวเปิดงานโดย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.

สำหรับการสัมนานี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “100 ปี ชาตกาลอาจารย์ป๋วยกับ 60 โทรทัศน์ไทย จากแอนะล็อกสู่ดิจิตอล” โดยผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์ไทย ตั้งแต่ยุคก่อนเริ่มต้น, ยุคภาพขาว – ดำ, จากอดีต สู่ปัจจุบัน อาทิ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นางอารีย์ นักดนตรี ศิลปินและนักแสดงประจำสถานีโทรทัศน์ไทยช่อง 4 บางขุนพรหม, นายไพโรจน์ ปิ่นแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรทัศน์, นายกันตชัย ศรีสุคนธ์ ผู้แทนผู้ประกอบการโครงข่ายดิจิตอลทีวี และ ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

หลังจากจบการสัมนา ได้มีการแถลงข่าว “การเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากระบบแอนะล็อกสู่ดิจิตอล” นำโดยประธาน กสท. พันเอก นที ศุกลรัตน์ พร้อมด้วยกรรมการ กสทช. สายงานกิจการโทรทัศน์ โดยการแถลงนี้เป็นการประกาศถึงการเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อก ที่ออกอากาศในระบบฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง ไปสู่การออกอากาศในระบบดิจิตอลแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้เริ่มต้นทยอยเปลี่ยนผ่านระบบดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา และโทรทัศน์อีกทั้ง 5 ช่องที่เหลือ จะเริ่มทยอยเปลี่ยนผ่านตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ต่อไป

DSC02140 DSC02219

นอกเหนือจากการสัมนาและการแถลงข่าวการเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอลแล้ว ภายในงานยังได้รับเกียรติจากคุณศุ บุญเลี้ยง ศิลปินรับเชิญมาขับกล่อมเสียงเพลงให้กับผู้ร่วมงาน

DSC02221 DSC02236

และปิดท้ายสัมนาครั้งนี้ด้วยการกล่าวเจตนารมณ์ “การสร้างสรรค์โทรทัศน์ไทยในยุคดิจิตอล” โดยตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล 28 ช่อง และร่วมขับร้องเพลง “ดิจิตอลทีวี” ปิดท้ายงานในครั้งนี้

[youtube https://www.youtube.com/watch?v=_qCRdWwGsiU&w=560&h=315]
DSC02386

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. สายงานกิจการโทรทัศน์, คุณศุ บุญเลี้ยง ศิลปินรับเชิญ และตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิตอล

ส่วนท่านใดที่ยังสงสัยว่าวังบางขุนพรหมนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับวงการโทรทัศน์ไทย ต้องย้อนกลับไปยังช่วงปี พ.ศ. 2498 วันที่ 24 มิถุนายน จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 โดยใช้อาคารที่ทำการ ภายในบริเวณวังบางขุนพรหม (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นอาคารในการออกอากาศ และแพร่สัญญาณภาพไปยังเครื่องรับของประชาชน และในครั้งนั้น คุณอารีย์ นักดนตรี หนึ่งในผู้ประกาศของสถานี เป็นผู้รำประกอบเพลงต้นบรรเทศ (ในยุคหลังได้เรียกเพลงนี้ว่า ต้นวรเชษฐ์) เปิดการออกอากาศอย่างเป็นทางการของสถานี และเป็นบุคคลแรกที่ได้ปรากฎผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในขณะนั้น ในภายหลังได้ย้ายที่ทำการออกอากาศจากบริเวณวังบางขุนพรหม ไปยังอาคารที่ทำการย่านบางลำพู และย้ายถาวรมายังถนนพระรามที่ 9 และปรับจากช่อง 4 มาเป็นช่อง 9 อสมท มาจนถึงปัจจุบัน