วันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษา ที่อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งลงนามโดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมและการแบ่งแยกประเภทผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญเป็น 3 เรื่อง ดังนี้
เล็งเก็บข้อมูลผู้ใช้ Clubhouse และ Telegram
มีการเพิ่มหมวดหมู่ผู้ให้บริการเพิ่มเติมเข้ามาอีกสองหมวด ได้แก่ บริการซอฟต์แวร์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปติดต่อสื่อสารถึงกันได้ (Online Application Store) ที่ให้รวมถึง Clubhouse และ Telegram และผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางในการรับส่งข้อมูล เช่น Facebook, Youtube และ Instagram ซึ่งผู้บริการจะต้องจัดให้มีระบบที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของผู้ใช้บริการทุกคนได้ โดยเพิ่มมาตรฐานการเก็บข้อมูลเข้ามา เช่น ข้อมูล System ID, รายละเอียดธุรกรรม และรายงานการล็อกอินที่แม้จะล็อกอินไม่สำเร็จก็ต้องมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ด้วย!
ร้านอินเทอร์เน็ต/เกมออนไลน์/อีสปอร์ต ต้องเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน
ในส่วนของภาคผนวก ข. ระบุว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงร้านเกมออนไลน์ ร้านเกมประเภท Virtual Reality หรืออีสปอร์ต จะต้องเก็บรักษาข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลที่เข้ามาใช้ระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการ เวลาที่เข้าใช้และเลิกใช้ รวมถึงหมายเลขเครื่อง (IP Address) ที่ใช้
ให้เน็ตฟรี = ต้องติดกล้องวงจรปิดไว้ส่องคนใช้
เจ้าของร้านอาหารหรือร้านใด ๆ ที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเพียงบริการเสริม (ร้านที่ไม่ได้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก) ผู้ประกอบการจะต้องเลือกดำเนินการ 1. ติดกล้องวงจรปิดและบันทึกรายละเอียดการเข้าใช้งานของลูกค้า หรือ 2. ทำบันทึกเอกสารเกี่ยวกับการใช้บริการของลูกค้าในแต่ละวันเพื่อให้ตรวจสอบได้ภายหลัง หรือ 3. ดำเนินการให้สามารถระบุตัวตนลูกค้าที่เข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตของตนได้
นี่เป็นครั้งแรกที่ประกาศภายใต้พ.ร.บ.คอมฯ กำหนดให้ต้องระบุตัวตนด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การเก็บข้อมูลตามระบบที่มีอยู่
อ้างอิง: ราชกิจจานุเบกษา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส