ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวนิตยสารปิดตัวลงหลายฉบับ จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้นจนทำให้ซื้อนิตยสารเล่มกันน้อยลง วันนี้มีบริษัทหนึ่งในไทยที่ขออาสาทำแพลทฟอร์มดิจิทัลออนไลน์รูปแบบใหม่ เพื่อรักษาจิตวิญญาณของนิตยสารเอาไว้ นั่นคือ Next Cover ครับ

จากนิตยสารสู่สื่อออนไลน์ ต้องเสียอะไรไปมากมาย

มองจากสายตาคนทั่วไปอาจคิดว่าเมื่อขายนิตยสารไม่ได้ ก็ย้ายมาทำสื่อออนไลน์ซะก็หมดเรื่อง เปิดให้อ่านฟรี เก็บค่าโฆษณากันไป แต่คุณกิตติชัย จิรสุขานนท์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เนกซ์คัฟเวอร์ จำกัด อธิบายปัญหาของการเปลี่ยนผ่านจากยุคนิตยสารสู่ยุคดิจิทัลอย่างน่าสนใจ

กิตติชัย จิรสุขานนท์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เนกซ์คัฟเวอร์ จำกัด

กิตติชัย จิรสุขานนท์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร บริษัท เนกซ์คัฟเวอร์ จำกัด

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3-4 ปี ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู มีอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตที่น่าจะเป็นอนาคตของการอ่านได้ นิตยสารไทยจำนวนไม่น้อยก็เริ่มทดลองตลาดโดยการออกแอป eBook ให้อ่านกัน ซึ่งผลตอบรับในช่วงแรกนั้นเหมือนจะดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค้นพบว่า eBook ไม่ใช่ทางออกของวงการนิตยสาร เพราะผู้ซื้อไม่นิยมการจ่ายเงินเพื่อซื้อ eBook และข้อจำกัดของการเป็นแอปที่ต้องดาวน์โหลด ไม่สามารถอ่านได้ทันทีก็ทำให้ผู้อ่านหายไปเยอะ ที่สำคัญเนื้อหาจากในแอปไม่สามารถแชร์ผ่าน facebook, twitter เพื่อให้คนอื่นอ่านได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากเนื้อหาบนเว็บ ทำให้ eBook กลายเป็นแค่ร่างทรงของสื่อเดิม ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติใหม่ๆ ของ Social Network ได้

การย้ายจากนิตยสารมาเป็นเว็บเจอปัญหาใหญ่ 2 ประการ

ไม่สามารถรักษาจิตวิญญาณของนิตยสารไว้ได้บนหน้าเว็บ

ใครที่อ่านนิตยสารบ่อยๆ จะรู้ว่านิตยสารคืองานศิลปะสูงสุดของมนุษย์ในการจัดวางภาพและตัวอักษรแล้ว นิตยสารแต่ละหัวก็จะมีอัตลักษณ์วางจัดวาง Layout รูปแบบฟอนต์ที่สั่งสมกันมานาน ความสุนทรีของผู้อ่านนอกจากภาพสวย เนื้อหาดีแล้ว ยังมาจากการจัดวางเนื้อหาในเล่มด้วย

National Geographic บน Next Cover

National Geographic บน Next Cover

ซึ่งพอเนื้อหามาอยู่บนเว็บ รูปสวยๆ ก็ไม่ได้ใหญ่เต็มตา ลูกเล่นตัวอักษรก็ไม่มี ทุกอย่างเรียงกันตั้งแต่หัวไล่ไปจนจบ ก็ทำให้ความรื่นรมณ์ในการอ่านลดลงไปเยอะ

อัตราโฆษณาของเว็บนั้นไม่สามารถเลี้ยงเนื้อหาแบบนิตยสารได้

ต้นทุนของเนื้อหานิตยสารที่ดีนั้นจัดว่าสูง ทั้งต้นทุนค่าทำเนื้อหาและต้นทุนทำสื่อต่างๆ แต่โฆษณาบนเว็บที่จ่ายกันตามจริงเป็นยอดวิวยอดคลิก ส่วนใหญ่จะไม่สามารถรองรับต้นทุนที่สูงแบบนี้ได้ นอกจากนี้โฆษณาในรูปแบบเว็บไซต์ยังเป็นรูปแบบที่ไม่สวยงาม เจาะเป็นช่องเล็กๆ ที่คนมักจะมองข้ามไป หรือเรียกร้องความสนใจจนรบกวน

ในประเทศไทย ย้อนหลัง 2-3 ปีต่อเนื่อง เม็ดเงินโฆษณาถูกดึงไปลงในสื่อดิจิตอล ทำให้เม็ดเงินนิตยสารเฉลี่ยลดลงปีละ 10-15% หรือคิดเป็น 600 – 800 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เคยมีฐานอยู่ราว 4,500 ล้านบาท เมื่อปี 2557

Next Cover ทำอะไร

จากปัญหาที่มองเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะนิตยสาร จึงทำให้ Next Cover ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดย Next Cover จะเป็นแพลทฟอร์มที่เปิดให้อ่านเนื้อหาได้ฟรี มีการจัดหน้าที่สวยงามคงอัตลักษณ์ของนิตยสารแต่ละหัว ไม่ว่าจะเปิดบนสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ก็ปรับขนาดให้พอดี นอกจากนี้ยังทำงานบนเว็บเป็นหลัก ทำให้ผู้อ่านสามารถแชร์เนื้อหาตรงไปยัง Social Network ได้ทันที และอ่านได้โดยไม่ต้องลงแอป โดยคุณกิตติชัยบอกว่า จากการเก็บข้อมูลผู้ใช้ พบว่าเนื้อหาเดียวกันเมื่ออยู่ในรูปแบบ Next Cover จะมีคนเข้าชมเยอะขึ้น 10 เท่า และอยู่ในหน้าเว็บนานขึ้น 6 เท่าเมื่อเทียบกับรูปแบบเว็บตามปกติ

โดยเนื้อหาแบบ Next Cover สามารถเข้าได้จาก 3 ช่องทางหลักคือ Nextcover.co ที่เป็นหน้ารวมทุกนิตยสาร หน้าเว็บของนิตยสารต่างๆ และแอปสำหรับอุปกรณ์พกพาที่ทยอยเปิดให้ดาวน์โหลด

โฆษณาใน Next Cover จะวางเต็มหน้าคั่นระหว่างเนื้อหาเหมือนโฆษณาในนิตยสาร ทำให้ได้โฆษณาที่น่าดูกว่าโฆษณาตามหน้าเว็บปกติ ซึ่งสามารถเจาะกลุ่มแบรนด์ระดับสูงได้ และจะมีค่าลงโฆษณาในอัตราที่สูงว่าโฆษณาตามเว็บทั่วไปด้วย ซึ่งรายได้จากโฆษณานี้จะแบ่งกันระหว่างทาง Next Cover และทางเจ้าของเนื้อหา

ตอนนี้ Nextcover ได้เริ่มให้บริการแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็สามารถดูเนื้อหาจากนิตยสารต่างๆ ผ่าน Nextcover.co ได้เลย

คุณกิตติชัย จิรสุขานนท์ (ซ้าย) และคุณเมธวิน อังคทะวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เนกซ์คัฟเวอร์ จำกัด

คุณกิตติชัย จิรสุขานนท์ (ซ้าย) และคุณเมธวิน อังคทะวานิช ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เนกซ์คัฟเวอร์ จำกัด

ประเด็นอื่นๆ ในงานแถลงข่าว

  • คุณกิตติชัยมองว่า Facebook Instant Article เป็นคนละกลุ่มตลาดกับ Next Cover และ Instant Article มีข้อกังวลเรื่องเราให้อำนาจกับเฟซบุ๊กมากเกินไป ทั้งโฆษณาที่มาจากเฟซบุ๊กเอง และอ่านได้เฉพาะบนเฟซบุ๊ก ทำให้หลีกเลี่ยงสงครามการแชร์ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องลงเงินบูสท์โพสต์ไปเรื่อยๆ
  • ตอนนี้ยังโฟกัสกับกลุ่มนิตยสารอยู่ สำหรับกลุ่มอื่นๆ เช่นข่าวหรือบล็อก ขอศึกษาก่อนว่าจะปรับรูปแบบอย่างไรบ้าง
  • ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างแมกกาซีนที่เนื้อหาคล้ายกันและต้องมาอยู่ในแพลทฟอร์มเดียวกัน
  • Next Cover มีต้นกำเนิดมาจากซอฟต์แวร์สร้างฟรีเซนต์ แล้วนำมาพัฒนาต่อสำหรับการใช้งานบนเว็บโดยทีมงานคนไทย (ตอนนี้มีราวๆ 20 คน
  • หลังบ้านของ Next Cover (ทีมงานแบไต๋ไปแอบส่องมา) มีลักษณะคล้ายๆ โปรแกรมสร้างงานนำเสนอ คือจะมีรูปแบบหน้าเนื้อหาให้ผู้สร้างเนื้อหาเลือกใช้ตามต้องการ ซึ่งแต่ละรูปแบบนั้นคิดไว้เรียบร้อยว่าจะแสดงในคอมพิวเตอร์อย่างไร และแสดงในอุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างไร
  • Next Cover สามารถเริ่มให้บริการโดยอาจไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ ถ้าใช้ของมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการการปรับแต่งเพิ่ม ต้องการ Template ที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
  • ตอนนี้นิตยสารที่เป็นพาร์ทเนอร์แล้วก็มี Maxim, Attitude, Madame Figaro, IN magazine, Herworld ,GM Live ,GM Car, 247 City Magazine, Harper’s Bazaar, Living ETC, Lonely Plannet, HAIR, National Geographic, Alure และ Food Stylist ซึ่งจะพยายามเก็บนิตยสารหัวหลักๆ ให้ครบในปีนี้