หลังจากที่ตระกูลบุณลาโภได้เข้าซื้อกิจการและสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเครื่องเสียงแบรนด์ B&O หรือ Bang & Olufsen จาก HW Trading เมื่อปี 2563 ตอนนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วสำหรับการบริหารหน้าร้านและแบรนด์ B&O ในมือบริษัท บุญลาโภ จำกัด (Boonlapo) นำโดยผู้บริหารหนุ่ม ทรงพล บุญลาโภ ซึ่งแบไต๋ได้ร่วมสัมภาษณ์ในงานเปิดตัวโชว์รูม Bang & Olufsen สาขาล่าสุดที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ก็เปิดเผยมาว่าธุรกิจเติบโตดีเลยครับ

ความเป็นมาของ Bang & Olufsen

โชว์รูม B&O ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี
โชว์รูม B&O ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

Bang & Olufsen (แบงค์ แอนด์ โอลาฟเซ่น) แบรนด์เครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1925 ในเมือง Struer ประเทศเดนมาร์ก โดย Peter Bang และ Svend Olufsen วันนี้ Bang & Olufsen เป็นแบรนด์เครื่องเสียงแนวไลฟ์สไตล์ระดับแนวหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการออกแบบทั้งด้านเสียงและงานฝีมือ โดยมีคอลเล็กชันตั้งแต่ระบบเครื่องเสียงภายในบ้าน โทรทัศน์และซาวด์บาร์ ลำโพง Multiroom ไปจนถึงลำโพงบลูทูท แบบพกพาและหูฟัง

โดย บริษัท บุญลาโภ จำกัด Bang & Olufsen’s official monobrand partner ในประเทศไทย ได้เปิดโชว์รูมใหม่ล่าสุด Bang & Olufsen Store ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เราเลือกใช้แลนด์มาร์คระดับพรีเมียมเป็นสถานที่ตั้ง โดยกำหนดเป้าหมายไปยังผู้บริโภคที่ชื่นชอบเสียงและการออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียอันเป็นเอกลักษณ์ของ Bang & Olufsen

B&O Beosound Balance
B&O Beosound Balance

โดย Bang & Olufsen Store Central Embassy มาพร้อมกับคอลเล็กชันผลิตภัณฑ์ของ Bang & Olufsen ทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องเสียงพกพา ไปจนถึงลำโพงที่ติดตั้งภายในบ้านเพื่อมอบประสบการณ์และบริการหลังการขายที่ครอบคลุม

คุยกับคุณทรงพล บุญลาโภ

คุณทรงพล บุญลาโภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญลาโภ จำกัด
คุณทรงพล บุญลาโภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญลาโภ จำกัด

เราเริ่มคุยกับคุณทรงพลในเรื่องของแบรนด์ Bang & Olufsen ว่ามีตำแหน่งทางการตลาดเป็นอย่างไร

โดยคุณทรงพลมองว่าแบรนด์ B&O เป็นแบรนด์อยู่ระหว่าง Audiophile หรือกลุ่มที่เน้นเรื่องเสียงมาก ๆ กับแบรนด์ไลฟ์สไตล์ จึงทำให้ B&O ไม่มีคู่แข่งโดยตรง เพราะสินค้าของ B&O นั้นทำตัวเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ ต่างจากเครื่องเสียงระดับ Audiophile ทั่วไปที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องเสียงอย่างดีอย่างเดียว

แต่อุปสรรคเดิมของ B&O ในไทยคือภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูหรู ดูราคาแพงเกินไป จึงทำให้คนไม่กล้าเข้ามาในโชว์รูม บุญลาโภจึงพยายามปรับภาพลักษณ์ตรงนี้ให้ดูเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น และพยายามสื่อสารว่า B&O นั้นมีผลิตภัณฑ์หลายกลุ่มซึ่งราคาเริ่มต้นแค่หลักพันเท่านั้น นอกจากนี้บุญลาโภยังขยายการทำธุรกิจโดยเปิดหน้าร้านออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

โชว์รูม B&O ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี
โชว์รูม B&O ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ถ้าเป็นสินค้าตัวเล็ก ๆ ราคาไม่แพง ลูกค้าตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์ได้เลย ส่วนถ้าเป็นลำโพงบ้าน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาลองใช้ที่โชว์รูมก่อน

โดยสาเหตุที่เลือก เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เป็นโชว์รูมแห่งใหม่ เพราะเขื่อว่าเซ็นทรัลมีกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ กลุ่มลูกค้าตอบโจทย์แบรนด์ และก่อนหน้านี้บุญลาโภก็มีโชว์รูมที่ Gaysorn Village, The Crystal Veranda และสยามพารากอนแล้ว เลยขอเปิดโชว์รูมที่เซ็นทรัลบ้าง ซึ่งในอนาคต ก็อยากเปิดสาขาต่างจังหวัดด้วย เพื่อขับแบรนด์ให้ไปไกลขึ้น

ผลิตภัณฑ์กลุ่มไหนที่ขายดีในไทย

เมื่อถามว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มไหนของ B&O ที่เติบโตในไทยสูงที่สุด คุณทรงพลให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ B&O แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

  1. กลุ่ม On The Go พวกหูฟัง ลำโพงบลูทูทที่พกพาได้ กลุ่มนี้มียอดขาย 20%
  2. กลุ่ม Flexible หรือกลุ่มลำโพงบ้านแบบ Multiroom ที่เชื่อม Wi-Fi ได้ และใช้ในบ้าน กลุ่มนี้มียอดขายราว 40%
  3. กลุ่ม Stage หรือลำโพงรุ่นใหญ่แบบ Home Theater หรือลำโพงราคาแพง กลุ่มนี้ก็มียอดขายราว 40%

ซึ่งทางคุณทรงพลก็มองว่าตลาดเครื่องเสียงในไทยเติบโตได้อีกเยอะ และ B&O มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งวัตถุประสงค์การใช้และดีไซน์สีสันให้เลือก จึงน่าจะเข้าถึงใจผู้ใช้ในไทยได้ โดยปี 2022 วางเป้าให้โต 5 เท่า

โดยโชว์รูม B&O ของบุญลาโภก็จะแตกต่างจากร้านเครื่องเสียงทั่วไป เพราะเป็นโชว์รูมของทางแบรนด์โดยตรง จึงสามารถ custom ผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายที่สุด สามารถเลือกวัสดุ เลือกสีได้ตามแคลตาล็อก เพื่อสั่งผลิตได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการสั่งผลิตแบบนี้เป็น Made to Order ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะได้สินค้า แต่ถ้าเป็นสินค้าดีไซน์มาตรฐานก็สามารถซื้อกลับไปได้เลยถ้ามีสต็อก โดยบุญลาโภก็ยังเน้นเรื่องบริการหลังการขายและ technical คอยดูแลให้ลูกค้าตลอด

B&O Beosound Level
B&O Beosound Level

B&O มี 2 ผู้จัดจำหน่ายในไทย บทบาทแตกต่างกันอย่างไร?

ปัจจุบันแบรนด์ B&O นั้นมี 2 ผู้จัดหน่ายในไทยคือทางบุญลาโภและ RTB Technology ซึ่งคุณทรงพลก็เคลียร์ตรงนี้ว่า

  • ทาง RTB นั้นจะเป็นตัวแทนจำหน่ายแบบ Multi brand ที่เป็นตัวแทนขายสินค้าจากหลากหลายแบรนด์ ส่วนบุญลาโภจำหน่ายเฉพาะ B&O เท่านั้น
  • RTB ไม่มีหน้าร้านเฉพาะของ B&O แต่จัดจำหน่ายผ่านหน้าร้านเครื่องเสียงหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ควบคู่กับหน้าร้านออนไลน์ของ RTB ส่วนบุญลาโภมีโชว์รูมเฉพาะของ B&O และมีหน้าร้านออนไลน์ของตัวเอง (สรุปคือร้าน B&O โดยเฉพาะทั้งหมดที่เห็นเป็นของบุญลาโภ)

แต่ลูกค้า B&O ในไทยก็เข้ามาใช้บริการที่โชว์รูมของบุญลาโภได้ครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส