นายลาร์ส  นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “การนำเสนอ ‘สมุดปกขาว’ หรือ ‘White Paper’ ในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์’ เป็นคำมั่นสัญญาและแผนระยะยาวที่ดีแทคจะสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงร่วมผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ สำหรับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค ในรายงานฉบับนี้ดีแทคจึงมุ่งเน้นที่จะสรรหาแผนงานในอนาคตที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2563”

สมุดปกขาว "เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์"

สมุดปกขาว “เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์”

โดยรายงานฉบับนี้ จะช่วยผลักดันประสิทธิภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันสู่นวัตกรรมเชิงมหภาคและการเติบโตที่สำคัญของชาติ ซึ่งดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และยังระบุถึงความท้าทายและโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของชาติ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศอื่นอีกด้วย

นายลาร์ส กล่าวเพิ่มเติมว่า “รายงานฉบับนี้เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และการสนับสนุนจากดีแทคเพื่อให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้สำเร็จ จากการที่ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลายาวนานในประเทศไทย พร้อมมุมมองในเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดใหม่ด้านอื่นๆ การที่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นจะต้องดำเนินไปพร้อมกัน  ดีแทคมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อจะร่วมผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศ”

โดยในสมุดปกขาวนี้ ดีแทคได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ พร้อมข้อเสนอดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure)

ประเทศไทยยังมีอุปสรรคต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในแง่ของการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่ายดิจิทัลแบบพื้นฐาน (Fixed Infrastructure) และโมบายล์ (Mobile Infrastructure) ที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในเทคโนโลยี 4G ดังนั้น ข้อเสนอแนะของดีแทคคือ รัฐบาลจะต้องพิจารณากำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) และจัดการประมูลคลื่นความถี่คลื่น 700, 850, 1800, 2300 และ 2600 MHz เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรทั้งแบบโครงสร้างพื้นฐานและอินเทอร์เน็ตบนมือถือในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในทุกระดับของสังคม และสะท้อนถึงการสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ภายในปี พ.ศ. 2559 จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์สู่ 30,000 หมู่บ้านทั่วประเทศเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งนี้ดีแทคยังสนับสนุนภาครัฐสำหรับการจัดทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในการสร้างเสาสถานีฐานในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำร่วมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Ecosystem)

เพื่อให้เศรษฐกิจไทยบรรลุเป้าหมายและเพิ่มศักยภาพสูงสุด เทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเข้าถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งถือเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 99 ของธุรกิจในประเทศไทย ในรายงานฉบับนี้ดีแทคได้มุ่งเน้นส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลของธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการโดยความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยในปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาดีแทคได้จัดตั้งโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ และแอปพลิเคชั่นชั้นนำ มากมาย เช่น แอปพลิเคชั่นสำหรับจัดการด้านการเงินจาก Piggipo แอปพลิเคชั่นเคลมประกันรถยนต์จาก Claim Di และอุปกรณ์ช่วยดูแลรถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟนจาก Drivebot ทั้งนี้ ดีแทคได้ผลักดันเป็นรูปธรรมด้วยการจัดตั้ง บริษัท ดีแทค แอคเซอเลอเรท จำกัด ส่งเสริมนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย โดยเร่งสนับสนุนสร้างนักรบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าปี พ.ศ. 2563  จะผลักดันเหล่าสตาร์ทอัพไทยให้มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท และก้าวสู่อันดับ 1 ของสตาร์ทอัพกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งดีแทค แอคเซอเลอเรท มุ่งตั้งเป้าสู่การสร้าง Tech Giant ให้เกิดขึ้นในไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 3: เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสังคมที่เท่าเทียม (Digital Technology for an Equitable Society)

ใน พ.ศ. 2558 มีคนไทยจำนวน 48 ล้านคน ยังคงไม่ได้รับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและยังไม่ได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลประสบความสำเร็จ คือ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต้องเป็นหนึ่งเดียวโดยมุ่งที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองและชนบท และเพิ่มรายรับของประชากรในชนบทโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย นอกจากการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของโครงการ Internet For All  ข้อเสนอของดีแทคยังรวมถึงการเชื่อมต่อคนไทยจากการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชนสู่บริการด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน และการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

DSC06600

ยุทธศาสตร์ที่ 4: บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (eGovernment Services)

ปัจจัยหลักของโครงการดิจิทัลไทยแลนด์คือ ข้อมูลที่โปร่งใสและทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วในด้านบริการสาธารณะออนไลน์พื้นฐานต่างๆ โดยข้อมูลสาธารณะส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในส่วนของ  “เครือข่ายซูเปอร์ไฮเวย์” แห่งชาติ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network – GIN) หรือ Super GIN กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งเพื่อเชื่อมต่อระบบข้อมูลรัฐที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลสาธารณะต่างๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้น และสนับสนุนรัฐบาล ดีแทคเสนอแนะทำความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ เช่นบริการเพย์สบาย (Paysbuy) ของดีแทคที่ขยายบริการด้านการเงินการธนาคารผ่านบริการบนมือถือ

ยุทธศาสตร์ที่ 5: ทุนมนุษย์ (Human Capital)

การสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยนั้นอาจต้องชะงักด้วยช่องว่างในระบบการศึกษาและความพร้อมเชิงดิจิทัลของแรงงาน ความท้าทายหลักอีกประการของประเทศไทยคือการเสริมความแข็งแกร่งทั้งด้านความรู้ดิจิทัลและภาษาอังกฤษเพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่เชื่อมต่อ การศึกษาระดับสูงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และต้องเริ่มจากการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานไอซีทีแก่ประชากรทั้งหมด ข้อเสนอทางหนึ่งคือให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ด้วยการจัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรบุคคลที่สามารถให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องและทันสมัย เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในโครงการเน็ตอาสาของดีแทค ที่มีอาสาสมัครเป็นผู้สอนการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 60 คน และช่วยเชื่อมต่อคนไทยมาแล้วกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6: กรอบการทำงานองค์รวมเพื่อดิจิทัลไทยแลนด์ (Holistic Frameworks for a Digital Thailand)

เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประเทศไทยต้องการกรอบการทำงานองค์รวมที่สนับสนุนสำหรับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่จะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ดีแทคเสนอแนะให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเป็นอิสระของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูลแข่งขันที่โปร่งใสควรเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานี้ ดีแทคยังเล็งเห็นถึงเยาวชนในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง ซึ่งอินเทอร์เน็ตถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เยาวชนนั้นสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ง่าย และในทางกลับกัน อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ทำให้เยาวชนบางส่วนถูกหลอกลวง รวมถึงการรังแกกันในโลกไซเบอร์ หรือ Cyberbulling ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดีแทคได้สานต่อโครงการ Safe Internet และโครงการ dtac Telenor Youth Forum เพื่อให้พลเมืองเน็ตมีภูมิคุ้มกันในโลกไซเบอร์ที่ข้อมูลผันผวนไปอย่างรวดเร็ว และเยาวชนที่ได้ร่วมโครงการดังกล่าว สามารถเป็นแบบอย่างในการบอกเล่าเรื่องราวการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้องต่อไป

DSC06608

และในการแถลงครั้งนี้ ซีอีโอของดีแทคได้ตอบคำถามสื่อถึงการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ว่า ดีแทคมีคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือตอนนี้ 50 MHz โดยแบ่งเป็น 850 MHz จำนวน 10 MHz ใช้งานบนระบบสามจี, 2100 MHz จำนวน 15 MHz ใช้งานบนระบบสามจีและสี่จี และคลื่นความถี่ 1800 MHz (ในระบบสัมปทาน) จำนวน 25 MHz แบ่งเป็นระบบสองจี 10 MHz และระบบสี่จี 15 MHz ซึ่งเพียงพอในการให้บริการต่อลูกค้า และในอนาคต ดีแทคจะขยายการให้บริการบนระบบสี่จีให้มากขึ้น ตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าต่อไป

สำหรับใครที่ต้องการอ่านรายละเอียดของสมุดปกขาวฉบับดังกล่าว สามารถอ่านได้จากสไลด์ด้านล่างนี้ได้ครับ