CP-CPF ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จ.ลพบุรี เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ไทย 6,971 ไร่ เป็นต้นแบบการฟื้นฟูผืนป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างงาน สร้างอาชีพ สู่ชุมชน พร้อมร่วมปลูกต้นจำปาป่า-ปล่อยปลา 1 แสนตัว มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร
นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือ CP-CPF ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน ได้แก่ กรมป่าไม้ ชุมชนรอบเขาพระยาเดินธง และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีคณะผู้บริหารระดับสูงของ CP-CPF อาทิ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร, นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ และยังได้รับเกียรติจาก มล.อนุพร เกษมสันต์ รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย, นายศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโส เครือซีพี ตลอดจน นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี, นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง ชุมชน และคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ร่วมกิจกรรมด้วย
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศฯ เป็นความภูมิใจและเป็นความมุ่งมั่นของเครือ CP-CPF ที่มีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งในวันนี้ท่านประธานสุภกิต เจียรนนท์ และคณะผู้บริหารได้มาติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูป่าจากที่ดำเนินการในระยะแรก (2559-2563) ช่วยพลิกฟื้นสภาพป่าที่มีสภาพรกร้างสู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ 5,971 ไร่ และในระยะที่ 2 (2564-2568) บริษัทฯ มีแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ และดูแลผืนป่าแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย และเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นต้นแบบที่กรมป่าไม้จะนำไปพัฒนาผืนป่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าสำหรับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนอื่น ๆ ต่อไป
“สิ่งที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถทำให้บริษัทฯ สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน โครงการนี้เป็นความตั้งใจของ เครือ CP-CPF ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศ” นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ CPF ได้รับความอนุเคราะห์จากที่ปรึกษาอาวุโส เครือ CPF มอบต้นจำปาป่า 1,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ของโครงการฯ, กิจกรรมปล่อยปลา 1 แสนตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชนโดยรอบ พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงเพาะชำกล้าไม้ แหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าในโครงการฯ นำมาเพาะอนุบาลให้เป็นกล้าที่แข็งแรง ซึ่ง CPF ได้จ้างงานชุมชนติดตามดูแลต้นไม้ในพื้นที่ การเพาะกล้าไม้ กำจัดวัชพืช ฯลฯ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพสู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังชมแปลงปลูกป่าพิถีพิถัน ซึ่งปลูกในปี 2560 และเตรียมขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของไทย (T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี กล่าวว่า CPF เข้ามาช่วยฟื้นฟูผืนป่าเขาพระยาเดินธงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ากลับคืนมา มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร สามารถเป็นต้นแบบอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในหลายพื้นที่ จากการที่ CPF ได้นำรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับนักวิชาการเข้ามาช่วยจนได้ผืนป่ากลับคืนมา ซึ่งกรมป่าไม้จะใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูป่า ขอขอบคุณ CPF ที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของกรมป่าไม้สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
CPF ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยผลสำเร็จจากการดำเนินการระยะที่ 1 (ปี 2559 -2563) ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวม 5,971 ไร่ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) เพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ รวมเป็น 6,971 ไร่ ต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ส่งเสริมชุมชนปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเองและนำไปจำหน่ายในตลาด และสนับสนุนชุมชนจัดทำโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลา ทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น
เครือ CP-CPF ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และในโอกาสที่เครือ CP ก้าวสู่การดำเนินงานครบรอบ 100 ปี มุ่งมั่นทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัทฯ เป็นลำดับสุดท้าย