“คลาวด์ คอมพิวติ้ง” เริ่มกลายเป็นเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างโอกาสใหม่ของการเพิ่มรายได้ทั้งระดับภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการปฏิบัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งจะมีเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของทั้งภาคธุรกิจทั่วไป บริษัทด้านเทคโนโลยี ตลอดจนภาครัฐ ที่จะผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ (Ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูง รองรับแนวโน้มใหม่นี้
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก ได้จัดงาน Huawei Cloud Congress Thailand 2016 (HCC Thailand 2016) ภายใต้ธีม “Transforming with cloud, Setting new benchmark” เพื่อเป็นเวทีตอกย้ำการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนลูกค้าและพันธมิตร สามารถมองหาโอกาสและความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคลาวด์ โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลก ที่บริษัทเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานประจำปีสำหรับ Huawei Cloud Congress มาอย่างต่อเนื่อง
มร. แจ็ค วัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง และบิ๊กดาต้า กำลังทลายพรมแดนการทำธุรกิจ ทั้งยังสร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ตลอดจนโอกาสใหม่ทางอุตสาหกรรมและธุรกิจ มีตัวเลขการวิจัยถึงการเติบโตของตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งทั่วโลก ปี 2558 พบว่าเติบโตถึง 28% แตะหลัก 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ไอดีซี คาดการณ์ว่าจะมีการติดตั้งใช้งาน external cloud เพิ่มจาก 22% ในปัจจุบันเป็น 32.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราเติบโต 45.8%
ข้อมูลจากไอดีซี ยังระบุว่า ปัจจุบันประมาณ 14% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดขึ้นผ่านออนไลน์ ซึ่งแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นแรงกดดันและความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการสื่อสาร, ภาคธุรกิจ และผู้ให้บริการโซลูชั่น ที่จะต้อง “เปลี่ยนแปลง” ทั้งนี้ หัวเว่ย จะนำประสบการณ์ที่เคยสนับสนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทย ปฏิวัติจากยุค 3 จี เป็น 4 จีมาแล้ว ต่อยอดสู่การทำงานร่วมกับลูกค้า จัดทำกลยุทธ์ด้านไอทีและคลาวด์ระดับองค์กร เพื่อช่วยผู้ให้บริการและลูกค้าองค์กร ชิงความเป็นผู้นำในยุคคลาวด์ ขณะที่ ในภาพเศรษฐกิภาพรวมนั้น คลาวด์และบิ๊ก ดาต้า จะเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จำเป็นต่อการเร่งการเติบโตให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวระหว่างการเปิดงาน HCC Thailand 2016 ว่า รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการใหม่ๆ ให้เกิดการหลอมรวมกับแนวคิด Thailand 4.0 และ Industry 4.0 สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The Forth Industrial Revolution) โดยหลายโครงการจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง, บิ๊ก ดาต้า และ Internet of Things (IoT)
“แนวโน้มเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกต่อไปในอนาคตอันใกล้ เพราะแม้แต่ในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ครั้งล่าสุด ยังเห็นด้วยว่า การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมตามแนวโน้มเทคโนโลยีข้างต้นนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ออกมาตรการใหม่ๆ สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากคลาวด์ คอมพิวติ้ง ตลอดจนความสามารถของเทคโนโลยีไอซีทีมาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการสร้างให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย สนับสนุนธุรกิจในประเทศไทยทำธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพ โดยมีบุคลากรที่มีความสามารถ การทำงานร่วมกันของบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติ ปูทางสู่การทำให้เประเทศไทยเป็นเกตเวย์สู่อาเซียน ในอนาคตอันใกล้
“และคลาวด์ คอมพิวติ้ง จะเป็นพื้นฐานที่ดีเยี่ยม ให้อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจในประเทศไทย ใช้งานและจัดหาบริการที่ดีให้กับประชากรในประเทศ ตลอดจนภาคธุรกิจด้วยกัน”
โดยส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุน คือ โครงการ Talent Mobility ส่งเสริมให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ในประเทศได้ไปทำงานในสถานประกอบการจริง แบบเต็มเวลา หรือภายในระยะเวลา 2 ปี ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพด้านงานวิจัย อีกทั้งช่วยเร่งความเร็วในการสร้างนวัตกรรมของไทย ซึ่งจะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีนักวิจัยเกือบ 200 คนจากหน่วยงานรัฐ เข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนแล้ว
มร. โรนัลด์ ไรท์ ราฟเฟ่นสเปอร์เกอร์ ประธานฝ่ายเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์ไอทีของหัวเว่ย กล่าวว่า หัวเว่ยให้ความสำคัญกับพันธมิตร และทำงานในระดับท้องถิ่นร่วมกับพันธมิตร เพื่อช่วยกันนำคลาวด์ขึ้นสู่ระดับโลก มุ่งมั่นที่จะสร้าง Cloud Ecosystem ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยคลาวด์จะเป็นปัจจัยในการสร้างความแตกต่างให้กับผู้ประกอบการด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการโครงข่าย จะสามารถสร้างจัดหาบริการใหม่ๆ ในระยะเวลาที่สั้นลง ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (OPEX) ลดลง และมีการปฏิบัติการและบำรุงรักษาแบบอัตโนมัติ (O&M) คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถสร้างธุรกิจใหม่ในระบบคลาวด์สาธารณะ และช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีคลาวด์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในงาน HCC Thailand 2016 หัวเว่ย ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, SAP, Intel, Brocade, Accenture, Commvault, ECS และ Synnex เปิดตัว FusionCloud Ecosystem ตอกย้ำแนวคิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และสร้าง Cloud Ecosystem แบบเปิดที่จะช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีคลาวด์ได้รวดเร็วง่ายดายยิ่งขึ้น
ด้านกรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทยของ หัวเว่ย กล่าวย้ำว่า “เราอยากจะแบ่งปันผลงานความสำเร็จในอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลกของเรา และช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีในภูมิภาค ด้วยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีไอซีที รวมถึงผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่ทันสมัยและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุด เพื่อช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล”