จากกระแสฮือฮาเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา การปรากฏตัวของงานศิลปะกราฟิตี้อย่างปริศนาของภาพยิมนาสติกหญิงบนซากปรักหักพังของเมืองโบราณโบโรดยานกา หลังสถานการณ์สงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็ไม่ใช่ฝีมือจากใครที่ไหน นอกจาก ‘Banksy’ ศิลปินสตรีทอาร์ตนิรนามที่มักจะถ่ายทอดผลงานศิลปะที่สอดแทรกด้วยพลังแห่งการสะท้อนสังคม หลาย ๆ คนอาจได้เคยเห็นผลงานของ ‘Banksy’ ผ่านตามาบ้างแล้ว และหลาย ๆ คนที่เพิ่งรู้จักเขาจากเหตุการณ์กระแสฮือฮาในครั้งนี้ จนชวนให้อยากทำความรู้จักกับศิลปินลึกลับผู้นี้มากยิ่งขึ้น
และเป็นข่าวดีของคนไทยที่นิทรรศการระดับโลกอย่าง The Art of Banksy: “Without Limits” ได้มาเยือนที่ MOCA BANGKOK นิทรรศการที่จัดแสดงแนวคิดและเบื้องหลังเรื่องราวของผลงานกว่า 150 ชิ้น อันน่าทึ่งให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตนของ ‘Banksy’ ตามมาชมไฮไลต์ของนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits” ที่ผู้ชมต้องห้ามพลาดไปพร้อมกัน
1. ครั้งแรก! ที่รวมผลงานชิ้นเอกของ ‘Banksy’ มาไว้ในที่เดียว กว่า 150 ชิ้น
นี่เป็นโอกาสที่แฟน ‘Banksy’ ต้องห้ามพลาดชมผลงานของ ‘Banksy’ รวมกว่า 150 ชิ้น แถมแต่ละชิ้นยังเป็นผลงานระดับตำนานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “Girl with Balloon” ภาพเด็กหญิงกับลูกโป่งรูปหัวใจ หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของ ‘Banksy’ ภาพนี้เป็นงานกราฟิตี้ที่ใช้เทคนิค stencil หรือ ฉลุลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของ ‘Banksy’ ซึ่งความน่าสนใจของภาพที่มีหลายคนพยายามตีความคือ มือของเด็กผู้หญิงจริง ๆ แล้วมันหมายถึงสิ่งใด บางคนบอกว่า เธอพยายามคว้าลูกโป่ง บางคนบอกว่า เธอปล่อยมือจากลูกโป่ง ด้วยความเรียบง่ายแต่ทรงพลังของภาพนี้ทำให้งานชิ้นนี้โด่งดังไปทั่วโลก และยิ่งโด่งดังไปมากขึ้น เมื่อในปี 2018 ภาพนี้ถูกนำไปประมูลที่ Sotheby’s และมันก็ทำลายผลงานของตัวเองด้วยเครื่องย่อยกระดาษ ภายในไม่กี่วินาที
หลังจากที่มีการประมูลภาพนั้นไปสูงถึง 1.2 ล้านดอลลาร์ และภาพ “Flower Thrower” อีกหนึ่งผลงานที่ทรงพลังในด้านความรุนแรงของสังคมและเพศ ภาพชายสวมหมวกและมีผ้าพันคอปกปิดใบหน้าที่เคร่งขรึม กำลังโยนช่อดอกไม้หลากสี ที่เป็นสีของธงลัญลักษณ์ของกลุ่มชาว LQBTQIA+ แทนที่จะเป็นก้อนหิน หรือ ระเบิดจริง ๆ ที่กลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงชอบใช้กัน ทำให้หลาย ๆ คนเมื่อได้เห็นภาพนี้แล้ว ต่างเอาไปเชื่อมโยงและตีความกันว่า ‘Banksy’ ได้พยายามส่งข้อความที่เป็นเหมือนการเสียดสีและต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาว LQBTQIA+
2. เรื่องราวการวิจารณ์ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย ผ่าน “Welcome Mat” พรมที่ถักทอขึ้นจากเสื้อชูชีพของผู้อพยพ
หนึ่งในผลงานออริจินัลที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้โปรเจ็กต์ Banksy x Love Welcomes ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือการอพยพและตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยหญิง โดยดีไซน์ของพรมและคอนเซ็ปต์ถูกออกแบบโดย ‘Banksy’ ด้านการผลิตนั้น พรมทุกผืนเป็นฝีมือการเย็บมือโดยผู้ลี้ภัยหญิงที่ได้รับเงินค่าจ้างให้มาผลิตพรมผืนนี้ จึงทำให้พรมทุกผืนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นชิ้นเดียวในโลก โดยเศษผ้าจากชุดชูชีพสีส้มที่นำมาใช้เย็บนี้เป็นเสื้อชูชีพที่พบอยู่บนชายหาดประเทศกรีซ ที่ถูกทิ้งไว้หลังผู้ลี้ภัยอพยพขึ้นฝั่งได้สำเร็จ
3. ผลงานศิลปะในยุคโควิด-19 ของ ‘Banksy’ ที่เปลี่ยนโฉมห้องน้ำของตัวเองให้กลายเป็นงานศิลปะสุดเจ๋ง สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลก
ในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ‘Banksy’ ได้โพสต์ภาพห้องน้ำที่เป็นงานศิลปะที่มีการวาดภาพหนู 9 ตัวบนจุดต่าง ๆ ในห้องน้ำ แฝงไว้ด้วยความตลกขบขัน ทั้งหนูแสนซนที่เล่นซนกับสิ่งของในห้องน้ำ และหนูที่กำลังนับวันที่ต้องล็อกดาวน์ นอกจากนี้ความน่ารักของงานชิ้นนี้ก็คือ caption ของภาพนี้ที่ ‘Banksy’ พิมพ์ไว้ว่า “My wife hates it when I work from home.” ข้อความที่เขาบรรยายไว้ใน instagram เขียนไว้อยู่บนกำแพงห้องน้ำของเขา ที่ทำให้ใครต่อใครต้องอมยิ้ม รวมถึงความสนุกของงานศิลปะชิ้นนี้ที่ผสมผสานกับศิลปะการจัดวางจากอุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องน้ำ เป็นภาพศิลปะ 2 มิติกับ 3 มิติ ผสมผสานกัน ทำให้กลายเป็นงานศิลปะที่ฮือฮาในช่วงโควิด-19 ได้ เพราะขนาด ‘Banksy’ เอง ยังต้อง Work From Home ทำงานในบ้านของตัวเอง ซึ่งในนิทรรศการนี้ก็มีการจำลองงาน เหมือนยกห้องน้ำของ ‘Banksy’ มาไว้ในนิทรรศการเลยทีเดียว
4. รู้จักกับผลงานศิลปะชวนพิศวง กับผลงานชิ้นยักษ์ของ ‘Banksy’
“Dismaland” เป็นงานนิทรรศการชั่วคราวที่จัดขึ้น ณ ที่พักริมหาดในเมืองเวสตันซุปเปอร์แมร์ (Weston-super-Mare) ในเขตซัมเมอร์เซ็ต (Somerset) ประเทศอังกฤษ โครงการนี้ถูกจัดเตรียมอย่างเป็นความลับ ณ ทรอปิคานา (Tropicana) สถานที่พักผ่อนที่ถูกปล่อยให้รกร้าง และดัดแปลงให้กลายเป็นด้านที่ชั่วร้ายของดิสนีย์แลนด์ ที่เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558 และปิดตัวลงในอีก 36 วันต่อมา โดยนิทรรศการนี้ผู้ชมถึง 150,000 คน เขาเรียกมันว่า สวนสนุกสำหรับครอบครัวที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก การตกแต่งของ “สวนสยอง” แห่งนี้ ‘Banksy’ สร้างผลงานใหม่นับสิบชิ้นและก่อสร้างนิทรรศการด้วยเงินทุนของเขาเอง และมีศิลปินร่วมด้วยกว่า 58 ชีวิตจากทั้งหมด 60 ศิลปินที่ ‘Banksy’ เชิญมาร่วมงาน
ต่อมาอาคารเหล่านั้นได้รับการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนัง และอีกผลงานอันเลื่องลือที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับนิทรรศการที่จัดขึ้นในโรงแรมในรัฐปาเลสไตน์ ชื่อ “The Walled Off Hotel” โรงแรมดังกล่าวถูกตกแต่งด้วยผลงานที่แสดงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐปาเลสไตน์และประเทศอิสราเอล ต่อมาได้กลายมาเป็นผลงานจัดวางที่เป็นที่รู้จักของ ‘Banksy’ และแสดงถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ที่ประเทศอังกฤษมีในการรุกรานครั้งนี้ ซึ่งนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits” ก็มีการนำชิ้นส่วนที่เป็นของที่ระลึกจากนิทรรศการโรงแรมนี้มาจัดแสดงด้วย
5. ปิดท้ายกับห้องแห่งห้วงความคิดของ ‘Banksy’ ใน “Infinity Room” การเสพผลงานศิลป์ในรูปแบบใหม่
ห้องที่ต้องยกให้เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการนี้ เพราะเป็นห้องที่ใช้เทคนิคกระจกสะท้อนทุกด้าน โดยใช้เทคนิค Video Installation การฉายภาพผลงานของ ‘Banksy’ รวมกว่าร้อยผลงานบนกระจก ทำให้ได้เห็นผลงานของ ‘Banksy’ แบบ 360 องศา ให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับการชมงานของ ‘Banksy’ ในประสบการณ์ใหม่ ที่หลังจากเดินชมเดินดูงานของ ‘Banksy’ อย่างจุใจแล้ว ห้องนี้จะเป็นห้องที่ทำให้คุณรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในความคิดของ ‘Banksy’ และยังเป็นอีกหนึ่งมุมโปรดที่ผู้ชมชอบเข้ามาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเช็กอินในห้องนี้อีกด้วย
MOCA BANGKOK เอาใจผู้ชมที่รักในงานสตรีทอาร์ต ประกาศขยายเวลาเข้าชมนิทรรศการ The Art of Banksy: “Without Limits” ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขยายโอกาสให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้แนวคิดสะท้อนสังคม ผ่านผลงานศิลปะของ ‘Banksy’ สตรีทอาร์ตนิรนามผู้โด่งดังในวงการกราฟิตี้ในระดับโลก ซึ่งนิทรรศการนี้ได้รวบรวมผลงานทั้งผลงานจริงของ ‘Banksy’ จากนักสะสมและผลงานที่นำผลงานบางส่วนของ ‘Banksy’ มาทำซ้ำด้วยเทคนิคภาพพิมพ์สเตนซิล (Stencil) หรือ การฉลุลาย ไว้กว่า 150 ชิ้น เป็นหลากหลายเรื่องราวที่รอให้ผู้ชมได้มาตีความและตั้งคำถามกับงานศิลปะในนิทรรศการนี้ อ่านรายละเอียดโปรโมชันและซื้อบัตรเข้าชมทาง Zipevent https://bit.ly/3f7EDgi และจุดขายบัตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)
นิทรรศการ The Art of Banksy : “Without Limits” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ – 12 กุมภาพันธ์ 2565 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)