กระแสความร้อนแรงของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กำลังเป็นที่จับตามอง เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายทุกภาคส่วน รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด
ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองได้ชูวิสัยทัศน์เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และนโยบายสนับสนุนการใช้ EV ผลักดันการเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะเป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) MOU จัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองที่ประกาศออกมาล่าสุด ก็มุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) สะท้อนให้เห็นว่า EV เป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็น “วาระสำคัญ” ที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนกล่าวว่า การประกาศใช้นโยบาย 30@30 ระยะแรกของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถ EV เกิดกระแสการตื่นรู้ด้านความยั่งยืนทางพลังงาน จนสร้างปรากฏการณ์ต่อคิวซื้อข้ามคืนและมียอดจองพุ่งหลายพันคันภายในวันเดียว
“เราปลุกกระแสการใช้รถ EV ส่วนบุคคลในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก้าวต่อไปคือการเติมกระสุนนโยบายหล่อเลี้ยงโมเมนตัมอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจำเป็นต้องปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อขยายโอกาสให้คนไทยทุกคนได้ใช้ EV อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งปรับนโยบายด้าน EV ให้เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตคนไทย ครบทั้ง 3 ด้าน คือ อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด”
พีระภัทร ย้ำว่า การจะเดินหน้าสร้างโมเมนตัมต่อไปได้ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ EV หรือ EV Ecosystem อาจต้องกลับมาทบทวนกฎระเบียบและการสนับสนุนในปัจจุบันให้เอื้อกับผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ EV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พิจารณากฎหมายที่อาจจะปิดกั้น EV เข้าสู่ตลาด เช่น ข้อกำหนดเรื่องรถแท็กซี่ต้องมีเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรขึ้นไป ขณะที่รถ EV ในปัจจุบันไม่มีเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สามารถนำรถ EV มาเป็นแท็กซี่ได้
- การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (EV Infrastructure) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV และทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึง EV ได้ง่าย
- การกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้ EV ใหม่ อาจต้องพิจารณาสนับสนุนด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์ (Incentive) แก่ผู้ประกอบการ เช่น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ที่นำรถ EV มาใช้เป็นครั้งแรก หรือมีอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ
- การสร้างประโยชน์ต่อประเทศ พิจารณาประโยชน์จากการใช้ EV อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต เป็นต้น
“การสนับสนุนกลุ่ม Commercial Fleets ทั้งในระบบขนส่งสาธารณะหรือโลจิสติกส์ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ EV เข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ปัจจุบัน Commercial Fleets เป็นกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนการใช้ EV น้อย ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมายและด้านการลงทุนในระยะแรกเริ่ม”
พีระภัทร ยังมองอีกว่า หากจะกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศ “ว่าที่รัฐบาลใหม่” จะต้องออกนโยบายช่วยเอื้อให้เกิด “อากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลด” โดยสนับสนุนการลงทุนที่จูงใจให้ผู้ประกอบการใหม่อยากลงทุน และผู้ประกอบการเดิมหันมาใช้ EV จึงเสนอแนวทางนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่
1.เปลี่ยนเงื่อนไขภาษีผู้ผลิต EV ทยอยปลดล็อกเงื่อนไขยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตชิ้นส่วนและอะไหล่ให้กับบริษัทที่ผลิตรถ EV ภายในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ผลิตรถ EV ในตลาดให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการผูกขาด กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ ทั้งด้านการผลิต คุณภาพมาตรฐาน และราคายานยนต์
2.ปั้นบุคลากรด้าน EV ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้าน EV ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตรถ EV ไปจนถึงการซ่อมบำรุง เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา EV ง่ายต่อการเข้าถึงช่างผู้เชี่ยวชาญ ลดระยะเวลารอซ่อม แก้ไขเหตุขัดข้องได้ทันที พร้อมทั้งสร้างอาชีพ ช่วยให้กลุ่มช่างยนต์เดิม มีความรู้ความสามารถที่ทันสมัย มีรายได้ต่อเนื่องในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ EV
3.เปิดทางนโยบายลดต้นทุน กระตุ้นการเปลี่ยนผ่าน การลงทุนแรกเริ่มที่สูงทั้งค่ายานยนต์และอุปกรณ์ ทำให้ผู้ประกอบการ Commercial Fleets ยังไม่ตัดสินใจนำ EV เข้ามาใช้ในธุรกิจ การเปิดโอกาสให้ตลาดมีการแข่งขันหลายราย ผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจะสามารถเข้าถึงรถบรรทุก-รถโดยสาร EV และ EV Infrastructure ที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่เหมาะสมได้ อาทิ อุปกรณ์ชาร์จ EV หรือ EV Charger ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงในราคาที่ถูกลง ดึงดูดให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนและพัฒนาเครือข่ายขนส่งสาธารณะ EV กันมากขึ้น
4.ปลดล็อกค่าไฟ EV ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นอีกความท้าทายของการขยายEV สู่บริการขนส่งสาธารณะและโลจิสติกส์ ภาครัฐจึงควรปลดล็อกเงื่อนไขโครงการค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority อัตราพิเศษหน่วยละ 2.63 บาท ที่จำกัดเฉพาะสถานีชาร์จ EV สาธารณะ ให้ขยายไปยังผู้ประกอบการ Commercial Fleets เช่น เพิ่มคุณสมบัติให้อู่แท็กซี่ EV ที่มีหัวชาร์จ EV จำนวน 10 จุดขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งจะช่วยให้คนขับแท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลงไปพร้อมกัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 1 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลเมตร หรือค่าใช้จ่ายลดลงกว่าครึ่ง การปลดล็อกส่วนนี้จะจูงใจให้แท็กซี่ไทยหรือผู้ให้บริการรถโดยสาร ผู้ให้บริการ Last Mile Transportation เปลี่ยนผ่านสู่ EV
“ถ้าประเทศไทยสามารถผลักดันแนวคิดอากาศดี มีรายได้ ค่าใช้จ่ายลดให้เกิดขึ้นจริงได้ จะช่วยยกระดับ EV Ecosystem พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ดึงดูดนานาชาติเข้าร่วมตั้งฐานการผลิตและยกระดับคุณภาพการผลิตรถ EV ในไทย ส่งผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ และผู้โดยสาร เราจะเห็นรถเมล์ รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบบ EV จำนวนมากขึ้น ลดภาระต้นทุนค่าพลังงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนขับแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในธุรกิจและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Ecosystem ลดค่าครองชีพให้คนไทยสามารถใช้บริการรถ EV สาธารณะในราคาไม่แพง และช่วยสร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้กับคนไทยทุกคน” พีระภัทร กล่าวสรุป