ในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ผู้คนต่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก้าวเข้าสู่โลกไซเบอร์มากขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่กระนั้นเราก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะในขณะที่เรากำลังท่องโลกออนไลน์อย่างเพลิดเพลิน อาชญากรรมทางไซเบอร์ก็คุกคามเข้ามากลายเป็นภัยใกล้ตัวเพียงปลายนิ้วที่เราอาจจะตกเป็น ‘เหยื่อ’ ได้โดยไม่รู้ตัว
การโจมตีทางไซเบอร์ได้กลายเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 ภัยร้ายนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว
เมื่อมามองประเทศไทย ภัยคุกคามจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ได้อาศัยการดัดแปลงรูปแบบกลโกงที่หลากหลายและยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้อมูลสถิติในระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2022 – 24 กันยายน 2023 ได้รับการแจ้งความในคดีออนไลน์สูงถึง 3.3 แสนคดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท
หลายภาคส่วนจึงได้เร่งบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัทในเครือฯ ที่ถือเป็นภาคเอกชนนำร่องรายแรก ๆ ที่จับมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสื่อสารสร้างภูมิคุ้มกันผ่านโครงการ ‘ไซเบอร์วัคซีน’ เร่งต้านภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในสังคมไทย
ล่าสุด บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด บริษัทในเครือฯ ได้ประกาศความพร้อมพัฒนาระบบเทคโนโลยีความปลอดภัยด้วยงบลงทุน 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยป้องกันประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ โดยทรูมันนี่ได้มีการเปิดตัวระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3X Protection’ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยทีมงานของทรูมันนี่ร่วมกับผู้ให้บริการระบบความปลอดภัยชั้นนำของโลก เช่น ‘ชิลด์’ (SHIELD) บริษัทดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์จากสิงค์โปร์ และ ‘โซลอส’ (ZOLOZ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชัน และเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนในแบบ Biometric ระดับโลก
นายอธิปัตย์ พลอยพรายแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติคดีออนไลน์ที่มีการแจ้งความของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเห็นว่าจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังพบว่าการหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ เป็นคดีที่มีการแจ้งความมากที่สุด จากสถิติดังกล่าวทำให้เราต้องยิ่งเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปกป้องเงินของลูกค้าในแอปพลิเคชันทรูมันนี่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันแอปดูดเงิน ซึ่งเราได้พัฒนาระบบความปลอดภัยของทรูมันนี่ ที่เรียกว่าระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3X Protection’ ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยคุกคามในโมบายแอปพลิเคชันโดยเฉพาะ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของเรา เพราะระบบนี้จะช่วยป้องกันและสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ลูกค้าเปิดใช้งานระบบ ดังนั้นลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับการป้องกันความเสี่ยงจากการดูดเงินในกระเป๋าดิจิทัลของคุณได้อย่างรัดกุมและปลอดภัย
โดยจุดเด่นของระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น ‘TrueMoney 3X Protection’ คือการนำความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intelligence) มาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) มาใช้เพื่อรวบรวม จำแนก และจดจำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ พร้อมตรวจจับและสั่งการหากมีอะไรผิดปกติ และให้การปกป้องบัญชีผู้ใช้ถึง 3 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้นที่ 1 “ตรวจ” เป็นการคัดกรองขั้นแรกในการตรวจว่าคนที่เข้าทำการล็อกอินคือเจ้าของบัญชีตัวจริง โดยยืนยันเข้าใช้งานบัญชีด้วยระบบยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ จึงจะผ่านเข้าไปใช้งานในแอปได้ ทั้ง OTP หรือ Pin Code รวมไปถึงเทคโนโลยีการสแกนหน้าเพื่อตรวจสอบข้อมูลชีวมิติ (Biometric – Face Recognition) ที่มีความแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการตรวจ IP address ทั้งสถานที่และการเข้าใช้งานจากอุปกรณ์ที่ต่างไป ระบบตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบว่าเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริงหรือไม่
ชั้นที่ 2 “จับ” เป็นการตรวจดักจับมัลแวร์หรือแอปต้องสงสัย หากพบว่ามีการติดตั้งบนอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับทรูมันนี่ ระบบจะปฏิเสธการอนุญาตเข้าใช้งานทันที
ชั้นที่ 3 “หยุด” เมื่อเกิดการทำธุรกรรมที่ผิดปกติระบบจะใช้ AI มาช่วยจำแนก และกำหนดค่าความเสี่ยง (Risk Score) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติจากประวัติการทำรายการย้อนหลัง และให้ลูกค้าทำการยืนยันตัวตนหลากหลายรูปแบบ หรือหยุดยั้งรายการที่มีความผิดปกติ เช่น หากมีการโอนเงินที่มากเกินปกติที่เคยใช้งาน ระบบจะทำการปฏิเสธการโอนเงินทันทีแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นการยับยั้งความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานในการป้องกันการถูกดูดเงินออกจากกระเป๋าเงินดิจิทัล
“ทรูมันนี่เป็นรายแรกในประเทศไทยที่กำหนดให้ลูกค้าที่ต้องการทำรายการโอนเงินหรือถอนเงินตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปต้องสแกนหน้าเพื่ออนุมัติรายการ ซึ่งได้ให้บริการตั้งแต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะเราเล็งเห็นว่าภัยไซเบอร์มาทุกช่องทางและหลายรูปแบบ ต้องยกระดับความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงให้ลูกค้าไม่ให้เกิดความเสียหายให้ได้มากที่สุด เป็นหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ”
ผอ.ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบทุจริต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากระบบความปลอดภัยในแอป ทรูมันนี่ยังมีบริการให้ความรู้กับลูกค้าเตือนภัยไซเบอร์มาตลอด เราใส่ใจที่จะทำให้ลูกค้ารู้ว่าควรจะระมัดระวังเรื่องอะไรและทรูมันนี่ก็จะเป็นเครื่องมือที่คอยสนับสนุนสร้างความเข้าใจเสริมให้ รวมทั้งเรายังมีความพร้อมในการวางระบบแจ้งเหตุออนไลน์ ทั้ง Hotline 1240 กด 6 ตลอด 24 ชม. และการยกระดับมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ หากมีการแจ้งข้อมูลการใช้งาน ทรูมันนี่มีทีมในการติดต่อลูกค้ากลับเพื่อให้บริการอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. ทุกวันไม่มีวันหยุด
“เราเอา data มาเรียนรู้ศึกษาปรับปรุงแก้ปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อบริการลูกค้าให้ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์”
นายอธิปัตย์ กล่าวปิดท้ายว่า เป้าหมายในปี 2024 เราจะให้ลูกค้าสามารถอายัดบัญชีได้ด้วยตนเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องรอสาย Call Center เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ลูกค้าให้ได้เร็วที่สุด เป็นบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นให้ลูกค้าได้มั่นใจในการใช้บริการทรูมันนี่ได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเครือซีพี ได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ โครงการ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือ อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (แม็คโคร และ โลตัส) สถานีข่าว TNN รวมถึงมีการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยออนไลน์