“ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล หากมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ทั้งนี้ตามการจัดอันดับโดย International Institute for Management Development (IMD) ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 25 ของโลกในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ขีดความสามารถด้านการศึกษาอยู่อันดับที่ 54 การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลต้องอาศัยคนเป็นกุญแจสำคัญ แม้ประเทศไทยมีนักศึกษาจบใหม่ปีละ 500,000 คน แต่มีเพียง 40,000 คนที่จบด้านไอที ซึ่งยังไม่เพียงพอ” นี่คือมุมมองและวิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะประธานอาวุโสผู้ร่วมก่อตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่าเยาวชนไทยสามารถเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้นายศุภชัยได้มีโอกาสร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักศึกษาในโครงการ DCT Future Leaders 2024 ของสภาดิจิทัลฯ ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่กว่า 30 คนที่สนใจด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเด็น “โอกาสของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล” มีสาระที่น่าสนใจในหลายประเด็น อาทิ แนวโน้มการไหลของทุนทั่วโลกที่มุ่งไปสู่ 3D : Digitalization / AI, Deglobalization และ Decarbonization ยุทธศาสตร์ 5 เสาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การเสนอให้บรรจุวิชาComputer Science เป็นวิชาหลักในโรงเรียน ชี้การแข่งขันและความล้มเหลว คือ บันไดสู่ความสำเร็จ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กไทยมีพลังนำไทยสู่อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล

ถอดรหัสการปฏิวัติทางดิจิทัลสู่การเป็นฮับเศรษฐกิจดิจิทัล

นายศุภชัย เจียรวนนท์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะผู้นำดิจิทัลคนหนึ่งในยุคปัจจุบันของไทย กล่าวว่า โลกเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทั้งด้านความยั่งยืน และการปฏิรูปด้านดิจิทัล/ AI ทำให้แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป โดยทุนของโลกจะไหลเข้าไปใน 3 ด้าน “ 3 D” ได้แก่ 1.Digitalization / AI การลงทุนในเทคโนโลยีและ AI จะมีความสำคัญและเป็นทิศทางการลงทุนใหม่ 2.Deglobalization การที่โลกแบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ จนทำให้เกิดการพึ่งพาในระดับภูมิภาคสูงขึ้น นักลงทุนจะเลือกลงทุนในหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ 3.Decarbonization ภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และความพยายามผลักดันเรื่องความยั่งยืน ด้วยการกำหนดนโยบายและมีกฎหมายออกมารองรับ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ 5 เสาหลักเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ผู้นำด้านดิจิทัลของไทย กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่โลกของเศรษฐกิจดิจิทัล หัวใจสำคัญคือการกำหนดกลยุทธ์เพื่อทรานส์ฟอร์เมชั่นทางด้านเทคโนโลยี โดยสภาดิจิทัลฯนั้นมียุทธศาสตร์ 5 เสาหลัก คือ 1.Digital Index การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2. PPP Partnership การสร้างกลไกตลาดผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อทำนโยบายสนับสนุนการลงทุนและการตลาด ดึงเม็ดเงินลงทุนด้านเทคสตาร์ทอัพ หรือ เทคโนโลยีเข้ามาในประเทศ อย่างเช่น กรณีที่สภาดิจิทัลฯ พยายามผลักดันเรื่อง Capital Gain Tax สำหรับเทคสตาร์ทอัพและยังมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นฮับ เนื่องจากสามารถเป็นตลาดที่ปลอดการเมืองโลก และรองรับได้ทั้งตลาดจีนและอาเซียน

3.Digital Workforce การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล ถ้าสามารถผลักดันให้ Computer Science เป็นวิชาเรียนหลักในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึง มัธยมศึกษาตอนปลาย จะทำให้ในอีก 6 ปีข้างหน้า มีจำนวนเด็กไทยที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเชิงลึกถึง 6 ล้านคน  ซึ่งประเทศที่ได้การรับการยอมรับถึงศักยภาพด้านดิจิทัล อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียมีนโยบายสนับสนุนการสร้างคน โดยมาเลเซียตั้งเป้าจะต้องมีแรงงานที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อินโดนีเซียมีการให้อินเซนทีฟสร้างแรงจูงใจให้คนเรียนด้านดิจิทัล ทำให้มีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นหลายรายเกิดขึ้นที่นี่

4.Digital Economy พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทุกอุตสาหกรรมจึงต้องกลับไปทบทวนว่ามีอุปสรรค หรือ ควรมีการสร้างแรงจูงใจอย่างไร เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ยกตัวอย่างที่จีนมีระบบเศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงระดับโลก มีการซื้อขายออนไลน์เกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และยังเติบโตอีกต่อเนื่อง อนาคตข้างหน้านั้นมองว่าการแข่งขันทางธุรกิจจะเพิ่มความท้าทายขึ้นอีกจากการใช้เอไอ ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในหลายเรื่อง เรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ควรพิจารณาการเพิ่มจำนวนเทคสตาร์ทอัพให้เทียบเท่าสิงคโปร์ ซึ่งมีอยู่ถึง 50,000 ราย เพื่อมาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง (disrupt) และทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมปัจจุบันของประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเกิดได้เร็วขึ้น

สุดท้ายคือ 5. Regional Innovation Hub การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องแลปปฏิบัติการ และ Innovation Center เพราะนักวิจัย หรือ Explorer เป็นกลุ่มที่มีความต้องการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็น Innovation Cluster แบบที่บอสตัน ซิลิคอนวัลเลย์ หรือ ลอนดอนได้

“ถ้าเราสามารถเชื่อมกลไกตลาดและมหาวิทยาลัยทั้งหมดได้ แล้วนำผู้ที่มีความสามารถระดับโลกมาเชื่อมกับเด็กไทย จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นคลัสเตอร์ Innovation Hub ได้ เพราะทุกวันนี้ มีเด็กจากหลายประเทศเลือกมาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องของนโยบายที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำร่วมกัน” นายศุภชัย กล่าว

Computer Science : วิชาที่ทรงพลัง

นางสาวณฐมน อำพินธ์

นางสาวณฐมน อำพินธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมโครงการ DCT Future Leaders 2024 ซึ่งมีความสนใจเรื่องการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม รวมไปถึงการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ตั้งคำถามว่า การสร้างคนเพื่อรองรับการเติบโตของยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะกรณีที่นายศุภชัยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการผลักดันให้ Computer Science อยู่ในวิชาหลัก ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่กลับความสนใจด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากกว่าการเรียนดิจิทัล จากเหตุผลหลายปัจจัย เช่น หลักสูตรการเรียนที่น่าเบื่อ และคุณภาพการเรียนการสอน ดังนั้นจะมีวิธีอย่างไรทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรียนด้านดิจิทัลไอทีมากขึ้น

ซีอีโอศุภชัย ได้อธิบายให้ DCT Future Leaders ฟังในประเด็นนี้ว่า Computer Science เป็นวิชาที่มีพลังสามารถแตกแขนงไปใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม เนื้อหาการเรียนรู้ครอบคลุมไปถึงการทำดิจิทัลมีเดีย มาร์เก็ตติ้ง และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นอกจากนี้ ผู้เรียนจะมีความเข้าใจลึกซึ้งถึงเรื่องของเทคโนโลยี ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย

“เด็กที่มีความชื่นชอบการเล่นเกมออนไลน์ อาจจะสนใจด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทำคลิปลงยูทูปในฐานะผู้เล่นเกม แต่ถ้าเด็กคนนั้นกลายเป็นผู้สร้างเกมแล้วทำสำเร็จ จะทำให้กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้” นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย มองว่า เด็กในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ยังอยู่ในช่วงของการค้นหาตัวเอง ควรได้รับการส่งเสริมให้รู้จักสำรวจและค้นคว้า เด็กอาจจะสนุกกับการเรียนรู้การสร้างเกม หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ใช้ แล้วสามารถนำไปต่อยอดได้ แต่เด็กจะต้องเข้าถึงคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต รวมถึงซอฟต์แวร์ ในอนาคตพวกเขาอาจไม่ได้เป็นแค่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ แต่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มครีเอเตอร์ แอปพลิเคชันครีเอเตอร์ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ออกแบบแพตเทิร์น หรือว่าชิปเซ็ตตัวใหม่ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และนำไปต่อยอดความรู้ด้านคอมพิวติ้งและดิจิทัลเทคโนโลยีมันกว้างพอที่จะรองรับได้ทุกความสนใจ ส่วนการสร้างแรงจูงใจ คือการให้อินเซนทีฟ เพราะทุนคือสิ่งที่สำคัญเป็นกลไกของตลาดทั้งโลก

อย่างเช่นในอเมริกา ก็มี accelerator ที่นอกจากจะเข้าไประดับมหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนี้ยัง มี VC active fund ไหลเข้าไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และกำลังจะไหลต่อไปยังระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นอกจากทุนแล้ว คือการฟอร์มทีมมาแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาความยั่งยืน ปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ โดยอาจเป็นประเด็นที่เป็นความท้าทายหรือ Pain point ต่าง ๆ แต่ยังไม่มีคนสนใจหยิบมาทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างประสบการณ์ มีกรอบความคิด แม้สิ่งที่ทำอาจไม่สำเร็จก็ตาม ส่วนทุนไม่ว่าจะทุนจากภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องการอินเซนทีฟเหมือนกัน เช่น ภาษี  เนื่องจากมีความเสี่ยงในการลงทุน ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องมีนำเรื่องนี้มาพิจารณา เพื่อส่งเสริมให้ทุนไหลเข้ามาในระบบ และยังเป็นการกระตุ้นความสนใจของเด็ก เพราะนอกจากได้ประสบการณ์แล้ว ยังได้เงินทุนสำหรับลองผิดลองถูก

การแข่งขันและความล้มเหลว: บันไดสู่ความสำเร็จ

นางสาวชัญญานุช บุษยาตรัจ

นางสาวชัญญานุช บุษยาตรัจ นักศึกษาชั้นปี 4ด้าน Political Science and International Studies, Luther College, USA ผู้เข้าร่วมโครงการ DCT Future Leaders 2024 ซึ่งมีความสนใจในประเด็นการสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา มองว่าที่ผ่านมาการพูดถึงเรื่องของการก้าวสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 เป็นเหมือนคำพูดเก๋ ๆ ที่คนชอบพูดกัน แล้วประเทศไทยได้วางเป้าหมายของประเทศไว้อย่างไรบ้าง เช่นไทยจะเป็น New Innovation Hub ของอาเซียน หรือว่าจะเป็นระดับโลก แล้วจะมีพัฒนาประเทศอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น โดยที่ไม่ต้องรอให้นักลงทุนมาตั้งฐานในประเทศ เพื่อใช้ทรัพยากรของเราเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพขั้นสูงเหมือนต่างประเทศได้ ทั้งนี้ นางสาวชัญญานุชยังได้แชร์ประสบการณ์จากการสมัครเข้าร่วมฝึกงานที่ทำเนียบขาว ว่าผู้เข้าร่วมฝึกงานต้องสามารถเขียน Python (ภาษาในการเขียนโปรแกรม)ได้  ซึ่งเพื่อนรอบตัวก็สามารถเขียนได้ เพราะว่าประเทศของเขาให้การสนับสนุนจึงทำให้เขามีความสามารถมากกว่าเรา ใขณะที่ตัวเธอเองเรียนสังคม รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทักษะพิเศษด้านนี้ จึงเห็นได้ว่าการมีความรู้พื้นฐานทำให้เราเป็นบุคลากรของโลกที่มีการแข่งขันสูง จึงอยากทราบว่าในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ  เราต้องมุ่งเน้นเรื่องการแข่งขัน หรือ ทำงานแบบคอลแลปกับต่างประเทศ

ซีอีโอเครือซีพี กล่าวว่า ในความเป็นจริงโลกธุรกิจคือการแข่งขัน แต่มีความสนใจบางเรื่องที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ การแข่งขันไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะการแข่งขันทำให้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ถ้าเราสำเร็จคนอื่นก็จะเรียนรู้จากเราและนำไปทำต่อให้ดีกว่า แต่ถ้าเขาสำเร็จเราก็ไปเรียนรู้จากเขา ซึ่งโดยส่วนตัวคิดเสมอว่าคู่แข่งเป็นคุณครู ทุกวันนี้เราเรียนรู้จากสิงคโปร์ เรียนรู้จากมาเลเซีย เรียนรู้จากเวียดนาม แต่ในที่สุดก็ต้องมีคนที่ทำได้ดีที่สุด ซึ่งคนที่ทำได้ดีที่สุด ก็คือคนที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากที่สุด แต่ในทางกลับกันยังมีประโยชน์ที่ได้จากการเรียนรู้การแข่งขัน แม้ว่าคู่แข่งจะแพ้ไปแต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับโลก มนุษยชาติหรือคนในประเทศยิ่งใหญ่กว่านั้น ส่วนคนที่แพ้ก็ใช่ว่าจะแพ้ไปตลอด ความล้มเหลวในวันนี้ถ้าเรียนรู้จะกลายเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ ความมุ่งมั่นจากการแพ้กี่ครั้งก็ลุกขึ้นมาใหม่นั้นเป็นความสวยงามอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คนทั้งโลกมีความสนใจร่วมกันขณะนี้ คือเรื่องของโลกร้อนและความยั่งยืน เป็นปัญหาที่มีการแบ่งปันเทคโนโลยีร่วมกัน แม้จะมีการแข่งขันทางธุรกิจเดียวกันอยู่ก็ตาม แต่ข้างหลังอาจจับมือกันแก้ปัญหาโลกร้อน หรือว่าหน้าฉากแข่งขันกันระหว่างอุตสาหกรรม แต่ข้างหลังมาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาเรื่องการศึกษา เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะได้บุคลากร ได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มาช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมเติบโต เศรษฐกิจดี สังคมดี

อนาคตเด็กไทย: นักค้นคว้าวิจัยและนักนวัตกรรม

นายภาวัต แสงศิริพงษ์พันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ด้าน Computer Science, University of Liverpool, UK ผู้เข้าร่วมโครงการ DCT Future Leaders 2024 มีความสนใจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นพิเศษ เนื่องจากมีแฮกเกอร์ และการโจมตีทางไซเบอร์จำนวนมาก ประกอบกับมีความสนใจด้าน Quantum Computing จึงอยากนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือประเทศและประชาชน แต่จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง ในการทำโครงการหรือหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไป ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียนในเมืองไทย แทนการไปเรียนต่อในต่างประเทศ และทำงานในประเทศไทย

นายศุภชัย กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจเพื่อทำให้ทั้งนักศึกษาไทย และนักศึกษาจากต่างประเทศ กลับมาทำงานที่ไทย ต้องพิจารณาถึงเรื่องอินเซนทีฟ และภาษี ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบอัตราภาษีระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ที่มีภาษีรายได้ประมาณ 16% แต่ถ้ามาทำงานที่ประเทศไทย โดยเฉพาะด้านไอซีทีที่ขาดแคลนบุคลากร อาจเจอภาษีเข้าไป 30% นอกจากนี้ ยังมีระบบของการเข้าถึงองค์ความรู้ ซึ่งต้องยอมรับว่า ความเป็นคลัสเตอร์อินโนเวชั่นของกรุงเทพฯ ยังไม่เกิด ทำให้ไม่สามารถยกระดับให้ถึงระดับ Top 10 หรือ Top 5 ของโลกในสายเทคโนโลยีได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้สร้างนวัตกรรมเก่ง ๆ ก็จะมุ่งเป้าไปที่อเมริกา อังกฤษ เพราะว่ามีความพร้อมทั้งทุนและอุปกรณ์ในการค้นคว้าวิจัย

ยกตัวอย่างเช่น แซม อัลท์แมน ผู้ก่อตั้ง OpenAI ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำแนวความคิดและสิ่งที่ตัวเองวิจัยมาทำในเชิงพาณิชย์ จนกลายเป็นเทคสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ดังนั้นการดึงดูดคนเก่งจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่ทำให้เขาได้ต่อยอดผลงานในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีที่มีความสนใจด้าน Quantum Computing ถ้ากลับมาเมืองไทยตอนนี้ก็ยังไม่มีสถานที่ให้กลับมาฝึกงาน จากที่ได้ไปศึกษาที่ฟินแลนด์ เกี่ยวกับ Quantum Computing อุปกรณ์สำหรับการค้นคว้าวิจัยเบื้องต้นราคา 5 – 6 ล้านเหรียญ แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ชุดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านเหรียญ ซึ่ง Quantum Computing เป็นการใช้เทคโนโลยีมาทำให้อะตอมวิ่งช้าลง ต้องใช้อุณหภูมิต่ำถึงลบ 300°C ซึ่งพูดในเชิงของการเรียนวิทยาศาสตร์ให้สนุก ถ้าเปรียบเทียบระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่เป็นเสมือนการวาดภาพระบายสีเพื่อให้ได้ตามอิมเมจที่ต้องการ แต่ Quantum Computing เป็นการถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด

ดังนั้น ในการสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งมาทำงานในไทย นอกเหนือจาก อินเทนซีฟ ภาษี และทุน จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้สามารถค้นคว้าวิจัยได้ถ้าทำได้สำเร็จการทำดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นก็จะประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะไม่ว่ายังไงเด็กรุ่นต่อไปจะกลายเป็นนักค้นคว้าวิจัยกันหมด ไม่เว้นแม้แต่คอนเทนครีเอเตอร์ก็จะเป็นนักวิจัยเช่นกัน เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับการผลิตคอนเทนต์เพื่อทำให้คนสนใจ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจะทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น จึงต้องไม่ลืมว่า แม้โลกจะไฮเทค ก็ต้องไฮคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปด้วย