นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารอาหาร หรือศูนย์ BKK Food Bank แห่งที่ 50 โดยมีนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร, นางสาวมธุรส เบนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูง, ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร, สำนักพัฒนาสังคม, สำนักงานเขตสะพานสูง, ภาคเอกชนผู้สนับสนุน, และตัวแทนประชาชนกลุ่มเปราะบาง ร่วมพิธีเปิด ณ สำนักงานเขตสะพานสูง
ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย คนตกงาน และผู้ประสบภัย ที่ขาดแคลนอาหารและของใช้จำเป็น ในขณะเดียวกัน พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตถูกทิ้งเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และคิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมดในกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำโครงการ BKK Food Bank ขึ้นมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคจากผู้บริจาค เพื่อนำไปมอบให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยใช้ระบบที่คล้ายร้านสะดวกซื้อ ผู้รับสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้แต้มที่ได้รับจากเขตในการแลกสินค้า ปัจจุบันโครงการ BKK Food Bank ได้เปิดให้บริการครบทั้ง 50 เขตแล้ว โดยเริ่มนำร่องตั้งแต่ตุลาคม 2565 เขตล่าสุดที่เปิดคือเขตสะพานสูง นอกจากการแจกของใช้แล้ว โครงการยังมีการรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาคในชุมชน ส่งต่อให้กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ สัปดาห์ละ 3 วัน โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ศาสนสถาน และองค์กรต่าง ๆ
จนถึงปัจจุบัน BKK Food Bank ได้ส่งต่ออาหารบริจาคถึง 488,227.29 กิโลกรัม หรือ 2,050,554.61 มื้อ ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 5,330 ราย จากทั้งหมด 23,476 รายที่ลงทะเบียนไว้ กลุ่มที่ได้รับบริการมากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ (36%) ผู้มีรายได้น้อย (33%) และเด็ก (12%) ส่วนประเภทอาหารที่ได้รับบริจาคมากที่สุด ได้แก่ เบเกอรี่ 312,023.91 กิโลกรัม อาหารปรุงสุก ข้าว ผักผลไม้ และน้ำดื่ม ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 1,235,215.04 กิโลกรัม