นับถอยหลังเตรียมเข้าสู่งานแสดงนิทรรศการระดับโลก World Expo 2025 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นบนพื้นที่ของเกาะยูเมะชิมะ (Yumeshima) ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2568 ภายใต้แนวคิดหลัก “Designing Future Society for Our Lives” การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี ซึ่งการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ไปแสดงศักยภาพสาธารณสุขไทยบนเวทีโลก
โดยย้อนกลับไป ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดพฤติกรรมและวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นในเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก จากสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวสูง 8.6% ต่อปี จนถึงปี พ.ศ. 2570 โดยมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 8.5 ล้านล้านเหรียญฯ หรือมูลค่ากว่า 306 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2563
ขณะที่ในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าเศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าอย่างน้อย 7 ล้านล้านเหรียญฯ หรือ 230 ล้านล้านบาท จากการคาดการณ์มูลค่าตลาดทำให้ประเทศไทยเล็งเห็นโอกาสในการสร้างเม็ดเงินมหาศาลจากเศรษฐกิจสุขภาพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ในด้านการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 13 หมุดหมายสำคัญ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการผลักดันให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub) เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
การเข้าร่วมงาน World Expo 2025 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2568 ถือเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์ให้นานาชาติได้เห็นศักยภาพและความพร้อมทางการแพทย์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปสู่โอกาสสำคัญให้กับประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ
- ด้านสาธารณสุข ส่งเสริมและเผยแพร่นโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในภูมิภาคเวทีโลก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นหมุดหมายด้านสุขภาพของคนทั่วโลก รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับสุขภาพ และระบบสาธารณสุขไทยให้ทั่วโลกรับรู้
- ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการขยายตลาดอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ครบวงจรของไทย อีกทั้งเป็นการแสดงศักยภาพ ให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และดึงดูดให้ผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งให้ผู้ประกอบการไทย เกิดโอกาสในการขยายการลงทุนไปสู่ภายนอกประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และยั่งยืนในทุกมิติ
- ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมภาพลักษณ์ และแสดงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับโลก ส่งผลดีให้เกิดการจ้างงานและเกิดการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก พร้อมทั้งส่งผลดีกับธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่ขยายบริการไปสู่การดูแลสุขภาพแบบครบวงจร (Wellness Center) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรายได้มูลค่าสูง นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์กับนานาชาติ
สำหรับอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ที่จัดขึ้นในงาน World Expo 2025 จะตั้งอยู่ในพื้นที่ A13 โซน Connecting Lives ได้รับการจัดให้อยู่ในรูปแบบการก่อสร้างแบบ Type A หมายถึงประเทศที่ได้รับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเอง ทำให้สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรม ศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่
โดยมีแนวคิดหลักในการออกแบบคือ “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” เพื่อสะท้อนความเป็นไทยและศักยภาพสาธารณสุขไทยสู่สายตาของนานาชาติในหลากหลายมิติ ผ่านการตีความอัตลักษณ์ของไทย ซึ่งมีทั้งความงดงามและอ่อนช้อยเพื่อสอดแทรกลงไปในอาคาร ด้วยการลดทอนองค์ประกอบของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณให้ผสานเข้ากับวิธีก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น ใช้เทคนิคย่อมุมที่อยู่บนยอดอาคารมณฑป ซึ่งเป็นลักษณะ “ทรงจอมแห” เป็นรูปทรงของหลังคาและมีระดับสูงต่ำตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่ภายใน เพื่อให้ใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสอดแทรกลวดลายจักสานของเฉลวมาประกอบเพื่อแสดงความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย รวมทั้งการใช้สีสันและรูปแบบวัสดุแบบไทย ๆ ที่มีความละเมียดละเอียดลออ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาด้านวัสดุ งานฝีมืออันประณีต ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ใช้กับวัสดุและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่
รูปทรงอาคารในครั้งนี้ถูกออกแบบให้เป็นทรงครึ่งจั่ว โดยมาจากความตั้งใจแรกที่ผู้ออกแบบได้นำความสมดุลของหน้าจั่วแบบสถาปัตยกรรมไทยมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งอาคาร ซึ่งมีหน้าแคบและลึกยาว จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการลดทอนอาคารให้เหลือเพียงครึ่งจั่ว และสร้างผนังกระจกสูงขนาบข้างอาคารยาวตลอดแนว เกิดเป็นเทคนิคภาพสะท้อน เมื่อมองจากด้านหน้าทางเข้าหลักจะได้เห็นจั่วของอาคารที่สมบูรณ์
ในส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ได้นำประติมากรรม “เฉลว” ตัวแทนความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ คู่กับประติมากรรม “ช้าง” ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ อายุยืนยาว และสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีมาสคอตตัวแทนประเทศไทยมาเป็นสัญลักษณ์นำโชค โดยมีชื่อว่า “น้องภูมิใจ” ที่มีแนวคิดการออกแบบมาจาก “แมงสี่หูห้าตา” ที่มาพร้อมสิ่งวิเศษทั้ง 4 ได้แก่
- รอยยิ้มสยาม มอบให้ผู้มาเยือนบ่งบอกได้ถึงตัวตนของคนไทยที่โอบอ้อมอารี มีเมตตา ที่จะต้อนรับและดูแล
- พรหมวิหาร 4 ประกอบไปด้วย เมตตา (ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข), กรุณา (ใฝ่ใจปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์), มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นอยู่ดี มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิต), อุเบกขา (มีจิตเที่ยงธรรม) ส่งเสริมมาตรฐานสาธารณสุขไทยตามแนวคิด “ภูมิ” ประเทศแห่งการกินดี อยู่ดี มีภูมิคุ้มกัน
- มี 4 หู 5 ตา
- เฉลว โลโก้ประจำ “ภูมิพิมาน” ตัวแทนการดูแลใส่ใจด้านสุขภาพ ปักไว้ใกล้กับหม้อยาเพื่อปัดเป่าโรคา มีลักษณะคล้ายต้นไม้ ตัวแทนแห่งการประยุกต์ใช้ทรัพยากรในประเทศด้วยภูมิปัญญา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทย พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างอบอุ่นจริงใจ
พร้อมกับพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “THAILAND Connecting Lives for Greatest Happiness” สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ และ Thai-Smile Connecting Happiness World Destination ยิ้มสยามที่ก่อให้เกิดความสุขเป็นเป้าหมายปลายทางของคนทั่วโลก โดยหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยตั้งแต่ ภูมิจากธรรมชาติ ภูมิจากวิถี วัฒนธรรม นวัตกรรม จนถึงภูมิคุ้มกันจากศักยภาพและความพร้อมด้านสาธารณสุข มาสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อชาวโลกให้เข้าถึงภูมิปัญญา และอัตลักษณ์แบบไทยผ่านบรรยากาศของดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และวิถีของผู้คนที่ช่วยสร้างภูมิให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
ในนิทรรศการไทยแบ่งโซนจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน
- ส่วนจัดแสดงที่ 1 “ภูมิวิถี” เปิดอรรถรสแห่งการเดินทางเข้าสู่ภูมิพิมาน ดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่ทำให้ไทยเป็นครัวของโลก ได้แก่
1 หมุดหมายสุขภาพโลก (World’s Destination for Healthcare and Wellness)
ปักหมุดอาคารนิทรรศการไทย ร่วมทำสัญลักษณ์ถ่ายภาพเช็กอินเพื่อแชร์ “ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” ให้ทั่วโลกได้รู้จักประตูบานแรกที่เปิดให้ก้าวเข้ามาสัมผัสดินแดนแห่งความกินดี อยู่ดี มีภูมิคุ้มกันสไตล์ไทย ๆ โดดเด่นสะดุดตา ด้วยการนำสถาปัตยกรรมไทยรูปทรง “จอมแห” มาผสมผสานให้เกิดรูปทรงหลังคาอาคารที่มีความเป็นไทยร่วมสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างลงตัว โดยมี “น้องภูมิใจ” มาสคอตตัวแทนประเทศไทยรอต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตร
10 มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย (Enchantments of Thailand)
บริเวณพื้นที่ด้านนอกอาคาร จัดแสดงประติมากรรมสำรับอาหารขนาดใหญ่ที่ภายในอัดแน่นไปด้วยมนต์เสน่ห์ของประเทศไทย ประกอบไปด้วย ภูมิประเทศ, ทรัพยากร, อาหาร และความเป็นอยู่แบบไทย ๆ ที่คนทั่วโลกต่างหลงใหล พร้อมนำเสนอวิถีการกินอย่างไทย เช่น สำรับแซ่บไทยเมนูอาหารจากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยสมุนไพรช่วยปรับสมดุลในร่างกาย สำรับภูมิดีผลผลิตเด่น, สินค้าเกษตรและผลไม้ขึ้นชื่อนานาชนิด, วิถีความเป็นอยู่อย่างไทย เช่น สำรับเทศกาลไทยประเพณีสงกรานต์ตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมทั้งวิถีสุขภาพดีอย่างไทย เช่น ฤาษีดัดตน ซึ่งเป็นภูมิปัญญานวดแผนไทย ที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นมรดกโลกปี 2019 เป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเน้นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย จึงเป็นทั้งการบริหารร่างกายและบริหารจิต รวมทั้งช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง ร่วมตามหาเคล็ดลับอายุวัฒนะในประเทศไทย ดินแดนแห่งความมั่งคั่งด้านสุขภาพ ภายในโรงภาพยนตร์ Wisdom of life Immersive Theater ผ่าน Concert Hall มหรสพรูปแบบใหม่ที่ถ่ายทอดความงดงามของภูมิวิถี, ธรรมชาติ, ความเป็นเลิศ ด้านการแพทย์, การบริการ เเละรอยยิ้มของผู้คน ด้วยจอฉายภาพขนาดยักษ์สูงกว่า 5 เมตร พร้อมระบบแสงสีเสียงสุดล้ำ มอบประสบการณ์ที่สมจริง เกินจินตนาการ ที่ช่วยสร้างภูมิทางกายและภูมิทางใจให้แข็งแกร่ง เพราะสมดุลของ “กาย ใจ” คือความมั่นคงด้านสุขภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
- ส่วนจัดแสดงที่ 2 “ภูมิคุ้มกัน” ถ่ายทอดเรื่องราวจากภูมิวิถีแบบไทย พัฒนาสู่นวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายใหม่ด้านการแพทย์และสุขภาพของโลก
100 ศักยภาพสาธารณสุขไทย (Potentialities of Thai Public Health System) 100 สิ่งสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์โลก เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดี พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้วยศักยภาพสาธารณสุขไทยทั้ง 4 ด้าน ที่จะขับเคลื่อนให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub) ได้แก่ Medical Service Hub, Wellness Hub, Product Hub, Academic Hub รวมถึงพืชสมุนไพร Herbal Champion ที่สามารถยกระดับให้ไทยเป็นดินแดนที่พร้อมดูแลและปกป้องทุกชีวิตได้ในอนาคต
1,000 สถานบริการทางการเเพทย์ (Medical Facilities) กว่า 1,000 สถานบริการเพื่อสุขภาพที่ตอบรับคนทั้งโลก ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ รักษา ฟื้นฟูตลอดจนการพักผ่อนระยะยาวที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นดินแดนเป้าหมายสุขภาพดีรองรับสังคมแห่งอนาคต สามารถเข้าถึงได้จากจำนวนสถานบริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ครอบคลุมการรักษาทุกโรคและได้มาตรฐานสากล เช่น JCI, HA ฯลฯ พร้อมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพที่แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของไทยสามารถฟื้นฟูทั้งร่างกายเเละเยียวยาจิตใจได้ผ่าน Immersive Experience ของ “Thai Nature Therapy”
10,000 เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เรียนรู้สรรพคุณของวัตถุดิบในหลากหลายเมนูอาหารของไทย ผ่าน Interactive Game มาร่วมถอดรหัส DNA อาหารไทย เป็น “ยาที่อร่อยที่สุดในโลก” รวมถึงสำรับอาหารจากภูมิปัญญาไทยทั่วทุกภูมิภาค อันหลากหลายครบรสที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารในทุกฤดูกาล ที่มาพร้อมสมุนไพรเสริมภูมิคุ้มกัน สู่การสร้างสรรค์เมนูอาหารเพื่อสุขภาพมากมาย
- ส่วนจัดแสดงที่ 3 “ภูมิสยาม” เข้าถึงภูมิแบบไทย ผ่านการลอง ลิ้ม ชิม รสชาติหลากเมนูอาหารไทยจากครัวสาธิต เพลิดเพลินไปกับนิทรรศการหมุนเวียน อาทิ การนวดไทย, การทำถุงเครื่องหอม และอีกหลากหลายกิจกรรมตลอดระยะเวลาจัดงาน
100,000 ผลิตภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกัน พื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมภูมิจากประเทศไทย ทั้งเครื่องแต่งกาย ของแต่งบ้าน อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ระลึก รวมถึงโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ที่ทุกคนล้วนเข้าถึงสุขภาพดีในแบบไทย ๆ ได้
1,000,000 รอยยิ้มแห่งความประทับใจ พื้นที่รวบรวมล้านความรู้สึกประทับใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันรอยยิ้ม เสริมภูมิทางใจให้กับคนทั่วโลก
พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย บริเวณหน้าทางเข้าหมุนเวียนให้ชมในแต่ละวันตลอด 6 เดือนเต็ม รวมทั้งการแสดงกิจกรรมพิเศษโอกาสต่าง ๆ, การแสดงวันเฉลิมฉลองของชาติไทย และการแสดงความสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 138 ปี ฯลฯ ที่จะมาสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจและความประทับใจแก่ผู้ที่มาร่วมชมงาน รวมทั้งนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่วมจัดกิจกรรม
จากการประมาณการคาดว่าจะมีประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมงานในครั้งนี้ประมาณ 28.2 ล้านคน ซึ่งจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว คาดว่าจะมีประเทศกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศไทยมุ่งขยายตลาดเศรษฐกิจสุขภาพเข้าร่วมงานอีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, รัฐคูเวต, รัฐสุลต่านโอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, รัฐกาตาร์, ราชอาณาจักรบาห์เรน รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลุ่มทางการแพทย์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมหาศาล
สำหรับผู้ที่สนใจงาน World Expo 2025 สามารถร่วมสัมผัสเสน่ห์ของอาคารนิทรรศการไทย ภายในงาน World Expo ได้ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2568 และติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thailand Pavilion World Expo 2025