AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย เดินหน้าสนับสนุนการทำงานของภาครัฐและทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณแนวชายแดนจังหวัดสระแก้ว เพื่อสนับสนุนแผนการแก้ไขเสาส่งสัญญาณในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ภายใต้ ยุทธการอรัญ 68 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์และอาชญากรรมข้ามแดน โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมติดตามปฏิบัติการและมอบนโยบาย

AIS สนับสนุนมาตรการของ กสทช. แก้ไขเสาส่งสัญญาณชายแดน

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “AIS พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และ กสทช. ในการควบคุมเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยง” โดยที่ผ่านมา AIS ได้ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติตามมาตรการของ กสทช. อย่างเคร่งครัดในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงตรวจสอบการเชื่อมต่อสัญญาณกับผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านให้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการใช้สัญญาณในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

หลังจากที่ กสทช. ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ให้เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเสาส่งสัญญาณบริเวณแนวชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว AIS ได้ดำเนินการทันที โดย :

  • พื้นที่ตลาดเบ็ญจวรรณ (ระยะ 50 เมตรจากชายแดน) – รื้อถอนตัวกระจายสัญญาณทั้งหมด
  • พื้นที่บ้านโคกสะแบง (ระยะ 300 เมตรจากชายแดน) – ปิดสัญญาณทั้งหมดและรื้อถอนเสาสายอากาศ (Antenna)
  • จัดเตรียม รถสถานีฐานเคลื่อนที่และติดตั้ง Small Cell เพื่อให้ประชาชนยังสามารถติดต่อสื่อสารได้

แผนปฏิบัติการเพิ่มเติมใน 9 จังหวัดแนวชายแดน

กสทช. กำหนดให้ดำเนินการแก้ไขเสาส่งสัญญาณเพิ่มเติมใน 9 จังหวัดแนวชายแดน ได้แก่

  1. กาญจนบุรี – ด่านเจดีย์สามองค์, พุน้ำร้อน
  2. ตาก – แม่สอด, พบพระ, แม่ระมาด
  3. สระแก้ว – อรัญประเทศ, บ้านโคกสะแบง
  4. เชียงราย – แม่สาย, เชียงของ, เชียงแสน
  5. สุรินทร์ – กาบเชิง
  6. บุรีรัมย์ – บ้านกรวด
  7. มุกดาหาร – เมืองมุกดาหาร
  8. หนองคาย – เมืองหนองคาย
  9. จันทบุรี – โป่งน้ำร้อน
  10. ระนอง – เมืองระนอง

การดำเนินการในพื้นที่เหล่านี้ประกอบด้วย รื้อถอนเสาสัญญาณที่อยู่ในระยะ 50 เมตรจากชายแดน, ลดกำลังส่งในระยะ 1 กม., และปรับเสาส่งสัญญาณให้มีความสูงตามมาตรฐานที่กำหนด โดยมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

AIS ร่วมมือปิดกั้นช่องทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

AIS ยังได้ร่วมมือกับ กสทช. และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการปิดกั้น IP Address ที่คนร้ายใช้ก่ออาชญากรรม เพื่อป้องกันการฉ้อโกงทางออนไลน์และอาชญากรรมไซเบอร์

การควบคุมโครงข่ายสื่อสารในพื้นที่เสี่ยงเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการใช้งานในลักษณะที่ผิดกฎหมาย สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลในการปราบปราม อาชญากรรมข้ามชาติ, การค้ามนุษย์, ยาเสพติด และแก๊งคอลเซนเตอร์ AIS พร้อมสนับสนุนทุกภารกิจของภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศ” นายวรุณเทพ กล่าวสรุป