เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนา “เซรั่มน้ำยางพารา” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถต้านอัลไซเมอร์ มะเร็ง ป้องกันโรคกระดูกพรุน และโรคเบาหวาน นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมยางพาราของไทย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคใต้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และภาคเอกชน ซึ่งสนับสนุนให้ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพารา (CERB) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาวิจัยจนสามารถนำเซรั่มน้ำยางพารามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สามารถเพิ่มมูลค่าของยางพาราได้มากขึ้นกว่า 100 เท่า

จากการศึกษาพบว่า เซรั่มน้ำยางพาราประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ ได้แก่ Hevea latex oligosaccharides (HLOs) ที่มีคุณสมบัติต้านอัลไซเมอร์และมะเร็ง, Beta-glucan oligosaccharide (BGOs) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดริ้วรอย และต้านมะเร็ง, Quebrachitol ที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและเบาหวาน และ 5’-Methylthioadenosine (MTA) ที่มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย วัณโรค และมะเร็ง เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นแบ่งออกเป็น 2 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ 1) การสกัดแยกส่วน (Separation-based technology) ที่ใช้แยกสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเซรั่มน้ำยางพารา และ 2) การย่อยด้วยเอนไซม์ (Digestion-based technology) ที่ใช้เอนไซม์เฉพาะเพื่อสกัดสารชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เวชสำอาง และยาชีวภาพ

ปัจจุบัน CERB ได้พัฒนาโรงงานต้นแบบร่วมกับบริษัท อินโนซุส จำกัด ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และวางแผนเดินหน้าจัดตั้งโรงงานผลิตตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตยางพารา

การพัฒนาเซรั่มน้ำยางพารานี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ระดับสากล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อย่างยั่งยืน

ในอนาคต CERB มีเป้าหมายผลักดันการขึ้นทะเบียนสารชีวภาพจากเซรั่มน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พร้อมขยายโอกาสการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ อาหารเสริม ยาชีวภาพ และเวชสำอาง เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน