ทุกวันนี้โลกของเราก้าวสู่อนาคตด้วยความเร็วไวกว่าแสง หลายอาชีพกำลังจะตกงาน หลายธุรกิจกำลังจะสูญพันธุ์ มีการคาดการณ์ว่า ราว 6% ของงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายในอีกเพียง 5 ปี ข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ภายใน 20 ปี

ในขณะที่อุตสาหกรรมและธุรกิจที่จะนิยามโลกยุคใหม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแล้ว วิธีคิดในการทำธุรกิจก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อการวัดความโปร่งใสขององค์กรภาคธุรกิจ (Defence Companies Anti-Corruption Index) คือ เทรนด์ใหม่ที่กำลังมา ผู้บริโภคมีอำนาจกำกับพฤติกรรมภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น ภาคธุรกิจจึงต้องคิดให้ละเอียด ในวันที่กว่า 70% ของผู้บริโภครุ่นใหม่จากทั่วโลกไม่ได้ต้องการเพียงแค่สินค้าและบริการที่ดี แต่ต้องการมั่นใจว่า ภาคธุรกิจมีความโปร่งใสด้วย ดังนั้น ‘ความโปร่งใส’ จึงกลายเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการทำธุรกิจในอนาคตอันใกล้ และความอยู่รอดของธุรกิจกลายเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างสังคมที่ดีกว่า

dtac จึงจัดงาน ‘Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้’ ครั้งแรกกับงานทอล์กที่ ‘เปิด’ มุมมองธุรกิจแห่งโลกอนาคต ให้คุณเห็นโอกาส รู้ทันความท้าทาย และ ‘พลิก’ ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและสร้างสังคมที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน

พลิก! สู่วิธีคิดในการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ที่ความอยู่รอดของธุรกิจกลายเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างสังคมที่ดีกว่า และความโปร่งใสคือสิ่งจำเป็นในการแข่งขัน พบกับมุมมองสำคัญในการเปลี่ยน เพื่อก้าวสู่ธุรกิจทันโลก เศรษฐกิจประเทศที่เติบโต และสังคมที่ดีไปพร้อมกัน

พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ไปกับ 4 วิทยากรชั้นนำ

พลิกทันอนาคต

The Industries of the Future

โดย อเล็ก รอสส์ (Alec Ross)

อเล็ก รอสส์ (Alec Ross) คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา อเล็ก ได้รับตำแหน่งสำคัญในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรม ให้แก่ฮิลลารี คลินตัน สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และเคยเป็นคณะทำงานด้านนโยบายเทคโนโลยี สื่อ และการสื่อสารในแคมเปญการเลือกตั้งของ อารัค โอบามา อีกด้วย ปัจจุบันเขากำลังเตรียมตัวเพื่อลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2561

5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในทัศนะของอเล็ก

  • ในทัศนะของอเล็ก 5 อุตสาหกรรมที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมแห่งโลกอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมพันธุกรรม อุตสาหกรรมข้อมูล อุตสาหกรรมความปลอดภัยไซเบอร์ และอุตสาหกรรมบิทคอยน์
  • ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ไม่ได้หมายถึง เพียงแค่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องมีลักษณะของการพัฒนาอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เกิดระบบนิเวศภายในอุตสาหกรรมจนทำให้ราคาถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ (mass) เข้าถึงสินค้าได้

ข้อสรุปชวนคิดจากอเล็ก : เมื่อเศรษฐกิจแห่งอนาคตแยกไม่ออกจากวิถีชีวิตทางการเมืองและพลเมือง

  • การมองเห็นทิศทางของเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมในอนาคตเป็น ‘เงื่อนไขที่จำเป็น’ สำหรับการคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในโลกใหม่ แต่ยังไม่ใช่ ‘เงื่อนไขที่เพียงพอ’ การมุ่งสู่อนาคตอย่างมั่นคงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นมาช่วยหนุนเสริม
  • สังคมเศรษฐกิจแบบเปิด (Openness) ซึ่งพูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ การมีธรรมาภิบาลที่ดี การมีกฎกติกาที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีสื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจคอยตรวจสอบความผิดปกติ สร้างการมีส่วนร่วม และให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสให้กับทุกคน
  • สังคมแบบปิด (Closed) ที่ไร้ธรรมาภิบาล ไร้ความโปร่งใส กฎกติกาไม่เป็นธรรม คอร์รัปชันสูง สื่อถูกควบคุมจนไม่สามารถตรวจสอบได้ สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น และทำงานเฉพาะในอุตสาหกรรมแบบเก่าเท่านั้น ในอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องพึ่งพิงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจแบบปิดจะไม่สามารถทำงานได้เลย และประเทศจะติดหล่มในที่สุด
พลิกพฤติกรรม

ทำไมคนเราถึงโกง? (Why Do We Corrupt?: Understanding Corruption through Behavioral Economics)

โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาการติดกับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยความพยายามที่จะยกระดับเทคโนโลยี การค้า และการลงทุน แต่กลับละเลยการยกระดับคุณภาพสังคม พูดให้ถึงที่สุด ประเทศไทยจะไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ ตราบใดที่คนในสังคมยังมีความ ‘ขี้โกง’ และปัญหาคอร์รัปชันยังคงฝังรากลึกอยู่เช่นปัจจุบัน

“ทำไมคนเราถึงโกง”: คำตอบจากมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐพฤติกรรม

ดร.ธานีอธิบายพฤติกรรมการโกงของคนในสังคมว่า แท้จริงแล้วเป็นผลมาจาก ‘คุณค่า’ ภายในของสังคมเอง เช่น

  • การนิยาม ‘คนดี’ แบบไทยๆ มีความเป็น ‘Familism’ หรือ ‘ความเป็นครอบครัวสูง’ ดังนั้น คนดีในสายตาคนไทย คือ คนที่ช่วยเหลือคนในครอบครัว คนใกล้ชิด กลุ่มเพื่อน รวมไปถึงผู้ที่เรานับถือและมีบุญคุณต่อเรา
  • วัฒนธรรมนี้นำมาสู่ระบบอุปถัมภ์ที่ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเอาเปรียบและโกง ‘คนนอก’ ความเป็นครอบครัวของเรา และเป็นเนื้อดินอันอุดมของพฤติกรรมการโกงและคอร์รัปชัน
  • วัฒนธรรมที่เอื้อให้คนโกงเช่นนี้ถูกหล่อหลอมด้วยสถาบันใกล้ตัวเรา เช่น ใน ‘บ้าน’ และ ‘โรงเรียน’ ที่มักสอนและให้คุณค่าที่มีความเป็นครอบครัวสูงเหนือคุณค่าแบบอื่น ในขณะที่สถาบันทางศีลธรรมหลักอย่าง ‘วัด’ ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การทำความดีสามารถชดเชยการทำเลวได้ ทั้งที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

แก้โกงด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ข้อสรุปสำคัญจากมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบันและเศรษฐพฤติกรรมคือ การจะลดพฤติกรรมการโกงในสังคมลงได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง

  • ปลูกชุดคุณธรรมสาธารณะขึ้นมาควบคู่กับชุดคุณธรรมที่เน้นความเป็นครอบครัวสูง เช่น การเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความเห็นผู้อื่น เป็นต้น
  • คุณธรรมที่เน้นความเป็นครอบครัวเช่นความกตัญญู การตอบแทนบุญคุณ ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรใช้เมื่ออยู่ในบ้าน เมื่อก้าวออกมาในที่สาธารณะการเคารพสาธารณะย่อมมีความสำคัญกว่า
  • สถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน วัด และสังคมเองก็ปรับชุดคุณค่าเพื่อเอื้อต่อการทำความดีและไม่โกงได้อย่างแท้จริง
พลิกโจทย์ธุรกิจ

“ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี  (“Good Enough” Is Not Good Enough)

โดย ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

บริษัทที่ดีเกี่ยวข้องอะไรกับผลประโยชน์ของผู้บริโภค

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ชวนผู้คนตั้งคำถามว่า คำว่า ‘องค์กรธุรกิจที่ดี’ ของคุณคืออะไร และที่คนทั่วไปคิดว่าดีนั้น “ดีพอแล้วหรือยัง?” นี่คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโจทย์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและสังคมของดีแทค

ดีแทคได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค พบว่าเมื่อพูดถึงองค์กรธุรกิจที่ดี ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักจะนึงถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีและราคาถูก และมักมองข้ามการเป็นองค์กรธุรกิจที่ดี ในแง่มุมของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี แข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่กระทั่งปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับพวกเขา

แต่ดีแทคได้ ‘พลิกมุมมอง’ ให้เห็นว่า ที่จริงแล้ว องค์กรที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี การแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกับ‘คุณภาพ’ และ ‘ราคา’ เพราะองค์ประกอบมีส่วนช่วยสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกได้ และไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่สังคมโดยรวมยังดีขึ้นด้วย

มายาคติของผู้บริโภค?

สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องมาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้นจากองค์กรธุรกิจเป็นเพราะความเข้าใจผิด 3 ประการสำคัญ

  • ประการแรก เข้าใจผิดว่าการแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติและการผูกขาดการค้าไม่ได้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ (Fair Competition Just Happens)
  • ประการที่สอง เข้าใจผิดว่าองค์กรธุรกิจที่ดีคือองค์กรที่ทำ CSR คืนให้กับสังคมเพียงเท่านั้น (Good Companies Plant Trees)  ทั้งที่ในความเป็นจริงการทำธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลคือการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในระยะยาว
  • ประการที่สาม เข้าใจผิดว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้นเกิดขึ้นได้จากภาครัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น (Change Can Only Come from the Top) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเกิดขึ้นจากพลังของผู้คนธรรมดา โดยเฉพาะพลังของผู้บริโภค

“ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี : พลังของผู้บริโภคเปลี่ยนสังคมได้จริง

ลาร์ส ได้เน้นย้ำว่า เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ ‘ทรงพลัง’ อย่างยิ่งต่อโลกธุรกิจทุกวันนี้ เพียงแค่ผู้บริโภคตระหนักถึงพลังของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง มีบรรษัทภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม สุดท้าย ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชนะในที่สุด

และนี่คือความหมายของคำว่า “ดีพอ” ไม่พอถ้าแค่ดี  (Good Enough” Is Not Good Enough)

พลิกสังคม

แก้เกมโกง (Shifting from the Sh*t: Lessons from Corruption Battles Around the World)

โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชันไม่ใช่คำสาปที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ การต่อสู้กับคอร์รัปชันทั่วโลกแสดงให้เราเห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ได้ และพลังจากประชาชนคือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา

อิตาลี: การปฏิวัติของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในสังคมมาเฟีย

ในประเทศอิตาลี ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในเมือง Palermo แคว้น Sicily ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบมาเฟีย โดยการปฏิเสธการจ่ายค่าคุ้มครอง และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคในการบอยคอตธุรกิจที่สนับสนุนมาเฟีย เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง มีธุรกิจเข้าร่วมการรณรงค์นี้กว่า 1,000 กิจการ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกยึดคืนจากกลุ่มมาเฟียและนำกลับมาให้กลุ่มประชาสังคมใช้ประโยชน์ทางสังคม เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติของผู้บริโภคและสังคมอย่างแท้จริง

อินเดีย: พลังของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ในประเทศอินเดีย การจ่ายสินบนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอินเดียตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะเป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ จนกระทั่งในปี 2554 ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านแคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” (I Paid a Bribe -IPAB) ด้วยการใช้พลังแห่งข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์ ให้ประชาชนเข้ามารายงานการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ วิธีการนี้เปลี่ยนประชาชนจากการเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีพลัง ที่สำคัญ แคมเปญ “ฉันจ่ายสินบน” กลายเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศนำไปใช้ต่อยอด

อินโดนีเซีย: 4 พลังประสานต้านคอร์รัปชั่น

และสุดท้ายประเทศอินโดนีเซีย จากประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกในช่วงการปกครองกว่า 32 ปีของอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อินโดนีเซียเคยอยู่อันดับรั้งท้ายในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ในช่วงปี 2538-2542 จนล่าสุดในปี 2559 อยู่อันดับที่ 90 แซงหน้าประเทศไทยซึ่งอยู่ในอันดับ 101

การล้มลงของระบบซูฮาร์โตในปี 2541 เปิดโอกาสใหม่ให้อินโดนีเซียขับเคลื่อนประชาธิปไตยไปพร้อมกับการต่อสู้คอร์รัปชัน ความสำเร็จในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของอินโดนีเซียเกิดจากความเข้มแข็งและการทำงานร่วมกันของพลัง 4 ส่วน ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ภาคธุรกิจ สื่อ และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครจินตนาการถึงว่าจะเกิดขึ้นได้ ผู้มีอำนาจที่ทำผิดก็สามารถถูกลงโทษได้ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

Shifting from the Sh*t : อย่าหมดหวังกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

บทเรียนจากประเทศต่างๆ บอกเราว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มีคำว่าสายเกินไปและปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้จบภายในวันเดียว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ทำให้เราติดกับดักคอร์รัปชันคือ ‘ความเฉยเมยและความกลัว’ ของประชาชน ที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ ว่าทำไปก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

“โลกไม่เคยเปลี่ยน เพราะคนส่วนใหญ่มองโลกตามความเป็นจริง แต่โลกเปลี่ยนเพราะคนกลุ่มเล็กๆ ที่มองโลกด้วยอุดมคติเสมอ” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม