ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จับมือพันธมิตร บริษัทโทรคมนาคม ระดับชาติของ มาเลเซีย และ กัมพูชา ร่วมเปิดตัว โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร ตั้งเป้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาค พร้อมเป็นประตูเชื่อมต่อสื่อสารทั่วโลก ช่วยกระตุ้นการขยายตัวด้านการสื่อสาร การค้า การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค ภายใต้งบลงทุนรวมกว่า 2 พันล้านบาท
นายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงภายในและระหว่างประเทศ กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับความไว้วางใจระดับนานาชาติในการดำเนินโครงการนี้ เพราะนอกจากเราจะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลภาคพื้นดินที่ให้บริการลูกค้าในประเทศไทยแล้ว เรายังเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ในการสร้างและดำเนินการวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของประเทศไทยอีกด้วย สำหรับ MCT Submarine Cable System นับได้ว่าเป็นโครงการแรกในระดับภูมิภาค ที่ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายการสื่อสารผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ โดยร่วมทุนกับ บริษัท Telekom Malaysia Berhad ประเทศมาเลเซีย (M) , บริษัท TelcoTech ประเทศกัมพูชา (C) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมระดับประเทศ ทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองบริษัทมาร่วมพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ”
จุดเด่นของโครงข่ายระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ MCT Submarine Cable System คือ
- สามารถรับส่งข้อมูลในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว
- โดยระบบสามารถรองรับได้สูงถึง 30 Tpbs.
- มีความเสถียร ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม
- ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างทั้ง 3 ประเทศ
- รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก
ในด้านการตลาด ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ได้สื่อสารความคืบหน้าของโครงการไปยังกลุ่มลูกค้าเดิมและจะขยายไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าในประเทศ ก่อนที่จะขยายไปต่างประเทศ ในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานโครงข่าย ที่ต้องการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Operator) ผู้ให้บริการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ผู้ให้บริการเครือข่ายอื่นๆ (Network Service Provider) รวมถึงภาครัฐ นิคมอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน
ในด้านการเงิน ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น ลงทุนในโครงการนี้ 2 ส่วนคือ ส่วนการวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ร่วมลงทุนกับมาเลเซียและกัมพูชา และการสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำที่จังหวัดระยอง มีชื่อว่า สถานีเคเบิลใต้น้ำโมฬี บนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสายเคเบิลจากภาคพื้นน้ำสู่ภาคพื้นดิน ซึ่งขณะนี้พร้อมให้บริการอย่างเต็มระบบแล้ว
จากความสำเร็จของ โครงการ MCT Submarine Cable System นอกจากจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของภูมิภาค (HUB of Asian) แล้ว การสื่อสารภายในประเทศจะมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่ต่ำลง ค่าบริการด้านการสื่อสารมีแนวโน้มที่ลดลงจากกลไกตลาด ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศในปัจจัยด้านการสื่อสาร ซึ่งส่งผลดีเศรษฐกิจในประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy , ไทยแลนด์ 4.0 หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งมีสถานีเคเบิลใต้น้ำของซิมโฟนี คอมมูนิเคชั่นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง
ในส่วนของการสื่อสารระดับภูมิภาค MCT Submarine Cable System ผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน
นายพอล บล็องช์ ฮอร์แกน ซีอีโอของ EZECOM ซึ่งเป็น บริษัทแม่ของ TelcoTech กล่าวว่า “เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัทซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น และ บริษัท เทเลคอมมาเลเซียเบอร์ฮาด ในการสร้างร่วมเครือข่ายด้านการสื่อสารระดับภูมิภาคด้วยกัน โครงการ MCT นับเป็นโครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกในกัมพูชา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมต่อการสื่อสารโทรคมนาคมที่ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาก้าวไปอีกขั้น อันเป็นความภาคภูมิใจและสร้างผลประโยชน์ที่มหาศาลให้กับลูกค้าและประชาชนของประเทศกัมพูชา รวมถึงจะเป็นประโยชน์ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่จะมีการสื่อสารโดยผ่าน โครงการ MCT นี้ด้วยเช่นเดียวกัน